กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ป่วยเพิ่มในทุกกลุ่มวัย แต่กลุ่มใหญ่มีทั้งเด็ก วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงอายุ 5-34 ปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกินกว่าหนึ่งร้อยราย อัตราป่วยตายในผู้ใหญ่สูงกว่าเด็ก พร้อมสั่งการเร่งแก้ปัญหาการป่วยตาย โดยเน้นมาตรการ “รู้เร็วรักษาเร็ว ในทุกกลุ่มอายุ” ซึ่งขณะนี้มีชุดตรวจที่ช่วยให้รู้ผลได้เร็ว สามารถไปเข้ารับการตรวจได้ทำได้ที่ รพ.สต. ทั่วประเทศ และย้ำเตือนอย่าซื้อยาแก้ไข้กลุ่มเอ็นเสดรับประทานเอง เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดโคฟิแนค และยาชุดแก้ปวด จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดเลือดออกและอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการแก้ปัญหาของโรคไข้เลือดออก หลังเป็นประธานการประชุมในศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เพื่อติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายและเพื่อสั่งการพร้อมกระตุ้นเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขวิเคราะห์ให้เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 ตุลาคม 2566 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 106,548 ราย ซึ่งในระยะนี้โรคไข้เลือดออกยังมีระบาดอยู่ แม้บางพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยลดลงก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังมีฝนตกทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีภาชนะที่มีน้ำขังหรือบรรจุน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกี่ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้
“ดังนั้น มาตรการสำคัญที่ต้องเน้นคือจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ 7ร. คือ โรงเรือน/บ้าน กลุ่มโรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โรงเรียน โรงแรม/รีสอร์ท โรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบ ที่ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง รวมไปถึงโรงพยาบาลและส่วนราชการ โดยเฉพาะที่วัด ซึ่งมีค่าดีชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก นอกจากการจัดการที่ดีโดยไม่ให้ยุงลายเกิดแล้ว การป้องกันที่ตัวบุคคลก็มีความสำคัญเช่นกัน กล่าวคือโรคไข้เลือดออกมีหลายระยะตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการเด่นชัด ทุกระยะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ฉะนั้น เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกไม่ว่าระยะใด ตัวผู้ป่วยจะต้องได้รับการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดและนำเชื้อไปติดคนอื่นด้วยการทายากันยุง แนะนำว่าให้ทาทั้งเช้าและเย็น และหากแพทย์ให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ คนรอบข้างก็ต้องป้องกันด้วยการทายากันยุงด้วยอีกชั้นหนึ่ง การป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีคือการป้องกันทั้งเชื้อ คน และยุง ไม่ให้มาพบกัน จะสามารถลดปัญหาการระบาดของโรคได้” นายแพทย์ธงชัยกล่าว
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า นอกจากโรคไข้เลือดออกที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงฤดูฝนนี้ อีกโรคหนึ่งที่น่าห่วงใยสำหรับหญิงตั้งครรภ์คือโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งสถานการณ์ ณ ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ที่พบผู้ป่วยมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 479 ราย จาก 26 จังหวัด โดยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุดยังคงพบผู้ป่วยมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ (24 ราย) และจันทบุรี (22 ราย) โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผ่านไปทารกในครรภ์ทำให้เกิดภาวะสมองไม่เจริญเติบโต เมื่อคลอดออกมาจะเป็นทารกที่มีศีรษะเล็ก โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะ ดังนั้น การจัดการกับยุงลายสามารถป้องกันโรคได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่ามองข้ามจุดน้ำขังเล็กๆ โดยยุงลายจะวางไข่ในแหล่งน้ำใสนิ่ง มักจะเป็นภาชนะขังน้ำหรือใส่น้ำในบ้านหรือรอบๆ บ้าน หากกำจัดหรือปิดกั้นที่วางไข่ของยุงลาย ยุงจะพยายามไปหาที่วางไข่ในจุดอื่นไม่ว่าจะเป็นน้ำในเศษภาชนะที่แอบซ่อนเช่น ขยะ เศษภาชนะ กาบใบไม้ที่มีน้ำฝนตกค้างเพียงน้อยนิด เป็นต้น จึงมีอีกวิธีหนึ่งในการกำจัดยุงลายคือการสร้างกับดักให้ยุงลายมาวางไข่แล้วหมั่นคอยดู เพื่อกำจัดลูกน้ำทิ้งเป็นประจำ เมื่อรอบของการวางไข่ยุงลายหมดไป ตัวแม่ยุงก็จะตายตามวงจรชีวิต ทำให้ไม่มียุงลายรุ่นใหม่เกิดขึ้น จึงเป็นอีกวิธีที่จะลดความหนาแน่นของยุงลายได้เช่นกัน
กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดจำนวนประชากรยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ
“3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน ให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด จัดการภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในช่วงนี้ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง มีมุ้งลวด ใช้ยาจุดกันยุง และใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ภายหลังน้ำลดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422