วันนี้ (1 มีนาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดงานเสวนาประเทศไทยสานพลัง มุ่งสู่การยุติการเลือกปฏิบัติ ‘Remove Laws That Harm, Create Laws That Empower’ เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และสร้างกระแสสังคม ตามแนวคิด “สานพลังทางกฎหมาย สร้างเครือข่าย ยุติการเลือกปฏิบัติ : Remove Laws That Harm, Create Laws That Empower.” และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางปฏิบัติ ความก้าวหน้าความท้าทายและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ เอชไอวีและประชากรหลักในทุกรูปแบบ สอดคล้องกับปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ปี 2564 ที่มีความชัดเจนในการใช้มุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2562 ร้อยละ 48.6 ยังคงมีทัศนคติการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ในประชากรวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี มีทัศนคติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในปี 2562 ร้อยละ 26.70 ปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ในการป้องกันและรักษาเอชไอวีและเข้าถึงบริการสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งกฎหมายลงโทษต่างๆ นับเป็นอุปสรรคต่อการยุติปัญหาเอดส์
ประเทศไทย เป็น 1 ใน 18 ประเทศที่ได้เข้าร่วม Global Partnership for Action เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีทุกรูปแบบในทุกๆ พื้นที่ของสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานบริการสุขภาพ ด้วยการสานพลังจากทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมทั้งผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นเอกภาพตามแนวนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและชุมชนที่มีความเสี่ยงเป็นศูนย์กลาง
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่ความท้าทายในการดำเนินงานที่สำคัญในปัจจุบัน คือการรังเกียจกีดกันและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลัก ยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นรากฐานในการเชื่อมโยงหลักการดำเนินงานด้านเอดส์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน รวมทั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิ มีหลักการดำเนินงาน คือการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐในสถานบริการสุขภาพและชุมชน ในการสร้างความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานลดการ ตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีเพศภาวะและความเป็นกลุ่มประชากรเปราะบาง
ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา หัวข้อ ผสานพลัง ยุติการตีตราเลือกปฏิบัติ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.องค์ความรู้และข้อเท็จจริง เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอชไอวี 2.การขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ภาคประชาชน 3.การทำงานเพื่อลดการตีตราในสถานประกอบการ และ 4.บทบาทของพนักงานอัยการในฐานะที่เป็นกลไกคุ้มครองสิทธิ เพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งเวทีเสียงสะท้อนของประชาชนในเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในหัวข้อ “อย่ามองเราเป็นอื่น หยุดตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มประชากรเปราะบาง และกิจกรรมลัดเลาะรอบบ้านซึ่งได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายทั่วประเทศ กิจกรรมดังกล่าวมีการถ่ายทอด Facebook Live ผ่านเพจกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อร่วมกันหาทางออกและข้อสรุป นำไปสู่การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในทุกมิติ