กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดช่วงปิดเทอม ระวังไม่ให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำหรือเข้าใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ซึ่งช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาจทำให้ระดับน้ำเปลี่ยน ขอบบ่อลื่น เสี่ยงเด็กตกน้ำและจมน้ำเสียชีวิตได้ ข้อมูลช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาเพียง 2 เดือน (มี.ค.-เม.ย.) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 41 ราย
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และในช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำมีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติ อาจมีน้ำไหลเชี่ยวแรง และขอบบ่อลื่น ประกอบกับ เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเด็กอาจพลัดตกน้ำ ลื่นตกน้ำ หรือจมน้ำขณะเล่นน้ำ จนทำให้เสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอมนี้ ระวังไม่ให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำ หรือเข้าใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง เพราะนอกจากจะเสี่ยงติดโควิด 19 จากการรวมตัวกันของเด็กๆ แล้ว ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้
โดยข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ (Drowning Report) การเฝ้าระวังข่าวจากสื่อ และโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2564 ในเบื้องต้น พบเหตุการณ์การตกน้ำ จมน้ำ ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 60 เหตุการณ์ เสียชีวิต 72 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย เพศหญิง 18 ราย (เพศชายจมน้ำเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-9 ปี (37 ราย) รองลงมาคือ 10-14 ปี (19 ราย) แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ สระน้ำ คลอง บ่อน้ำ และแม่น้ำ ตามลำดับ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ รองลงมาคือลื่นพลัดตกน้ำ ส่วนจังหวัดที่มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุดคือบุรีรัมย์ 7 ราย รองลงมาคือ อุบลราชธานี 5 ราย ขอนแก่น และสกลนคร จังหวัดละ 4 ราย
จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวพบว่า ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาเพียง 2 เดือน (มีนาคม-เมษายน) พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 41 ราย โดยที่ผ่านมาพบว่า ช่วงปิดเทอมช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) มีเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงที่สุด จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2563) เพียง 3 เดือน พบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 263 รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 2-3 ราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยจากการตกน้ำ จมน้ำในช่วงฤดูฝน ดังนี้ 1.ไม่ลงเล่นน้ำแม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย เพราะระดับน้ำ ความแรงของน้ำ และพื้นใต้น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2.อย่าเดินหรือวิ่งเล่นใกล้ขอบบ่อ เพราะช่วงในฤดูฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ 3.ขอให้ชุมชนช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และเฝ้าระวังจัดทำป้ายเตือน หรือแนวกั้นขอบบ่อไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ ที่หาได้ง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำ และ 4.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกสะพายแล่งให้เด็กติดตัวไว้เสมอ ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
Post Views: 325