เมื่อวันที่ (30 มีนาคม 2565) ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุม A National Multi-Stakeholder Meeting on Independent evaluation of the UN Joint Programme’s work with and for Key populations จัดโดยกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อนำผลการประเมินผลและข้อเสนอแนะสนับสนุนต่อการมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวยินดีเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศ กรณีศึกษาเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของสหประชาชาติด้านเอชไอวีและเอดส์โดยกลุ่มประชากรหลัก ซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย แต่ยังเป็นประโยชน์กับนานาชาติด้วย ซึ่งข้อมูลและการติดตามประเมินผลจะเป็นประโยชน์ต่อการรู้สถานการณ์และการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ช่วงระยะสุดท้ายของความพยายามยุติปัญหาเอดส์ จำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ นอกเหนือไปจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งเน้นในระยะถัดไปคือ ประชาชนสามารถตรวจและรู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง รวมไปถึงการป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม และอย่างที่ทราบดีว่าในปี 2565 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประเทศคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board : PCB) จะรวบรวมผลการดำเนินงานที่เป็นความก้าวหน้าและบทเรียนสำคัญของประเทศไทย และข้อเสนอแนะสำคัญจากการประชุมในวันนี้ ไปผลักดันในการประชุม PCB ซึ่งมีกำหนดประชุมในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติ ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์เอดส์โลก ภายในปี 2573
ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการนำเสนอขอบข่ายการดำเนินงานของสหประชาชาติด้านเอชไอวีและเอดส์โดยกลุ่มประชากรหลัก ในปี 2022-2023 ซึ่งความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายจากประเทศไทยในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นประธาน ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 อีกด้วย หลังจากนั้นทีมประเมินผลได้นำเสนอผลการประเมิน โดย Mr. Joel Rehnstrom ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินผล โครงการโรคเอดส์ แห่งสหประชาชาติ เจนีวา นำเสนอผลภาพรวมว่า แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีระดับโลกเพิ่มในกลุ่มประชากรหลัก ดังนั้น แผนงานโครงการจะต้องมุ่งเน้นการทำงานในกลุ่มเหล่านี้ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมขององค์กรกลุ่มประชากรหลัก โดยบูรณาการเข้าไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และ Mr. David Lowe หัวหน้าทีมประเมินผลในส่วนกรณีศึกษาประเทศไทย นำเสนอผลการประเมินฯ และกล่าวว่า โครงการร่วมของสหประชาชาติ ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีที่สุดใน 6 ประเทศที่เป็นกรณีศึกษา อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลักที่ต้องแก้ไข เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ของประเทศและนานาชาติ ภายในปี 2573 ได้แก่ 1.ขยายนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เช่น PrEP และการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง 2.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานในกลุ่มประชาหลัก 3.การพัฒนากลไกการจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้กับองค์กรชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์