“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2565 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 92 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 25-34 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ ภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด และ 5 จังหวัดที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ น่าน อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร เชียงราย และนนทบุรี โดยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในช่วงปี 2565 นี้มีตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าปี 2564 (จากข้อมูลระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 พบว่าอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในเดือน กรกฎาคม ปี 2565 = 0.071 ต่อแสนประชากร, ปี 2564 = 0.002 ต่อแสนประชากร) ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ความพิการทางสมองและระบบประสาทในทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน และจากการพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้  โรคติดเชื้อไวรัสซิกามียุงลายเป็นพาหะนำโรค และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ รวมไปถึงจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยผู้ติดเชื้ออาจมีอาการแสดงได้ ดังนี้ ผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดข้อ  หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์   กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค มาตรการนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อีกด้วย การเก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดจะป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”