กรุงเทพฯ, 30 พฤษภาคม 2565 – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย World Animal Protection ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และสำนักข่าวกรีนนิวส์ ร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ “ทำอย่างไร ‘ช้างไทย’ จะไม่โดนทำร้ายอีก?” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทารุณกรรมช้างในปัจจุบัน และร่วมหาแนวทางในการยกสวัสดิภาพช้างไทยอย่างเป็นระบบต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมไปถึงคนเลี้ยงช้าง วิกฤตปัญหาช้างไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อกว่า 2 ปี ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นปัญหาของช้างไทยชัดเจน ทั้งยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานการณ์ช้างไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ปัญหาช้างอดอยาก การทารุณกรรมช้าง และการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ปัญหาเหล่านี้ ชี้ชัดให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาช้างไทยทั้งระบบ และการยก ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ เป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญ
นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายถึงความยากลำบากของช้างจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า “ช่วงการระบาดของโควิด-19 สภาพความเป็นอยู่ของช้างไทยยิ่งประสบปัญหามากขึ้น และกระทบกันเป็นลูกโซ่ ช้างขาดแคลนอาหาร เพราะเจ้าของช้างตกงาน ทำให้ขาดรายได้ ช้างไร้ที่อยู่เพราะปางช้างต่าง ๆ ไม่สามารถเลี้ยงดูได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง เจ้าของช้างบางรายที่ไม่สามารถเลี้ยงดูช้างได้ก็นำมาฝากไว้ที่มูลนิธิฯ ซึ่งขณะนี้เรามีช้างในความดูแลเกือบ 200 ตัว” และช่วงโควิด-19 มีความพยายามในการหารายได้เพื่อการอยู่รอดโดยการพาช้างเข้าสู่อาชีพใหม่หลายรูปแบบ เช่น ให้ช้างแสดงผ่านทางโซเชียลมีเดียและขายอาหารให้ช้าง การนำช้างไปมัดไว้ในวัดเพื่อให้คนที่มีศรัทธาและความเชื่อมาลอดท้องช้าง และขี่ช้างในวัด เจ้าของบางคนนำช้างไปรับจ้างลากไม้ บางคนนำช้างตัวเองไปผสมพันธุ์ เพื่อหวังจะให้ช้างตั้งท้อง บางที่ได้ล่ามช้างไว้เกินกว่าสองปีโดยไม่มีการเคลื่อนย้าย เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อสวัสดิภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของช้างไทย ทำให้เกิดการสูญเสียช้างเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สังคมไทยได้เห็นการทรมานช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ คลิปการทำร้ายช้าง ณ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่ง นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “กรณีทำร้ายช้างที่เราเห็นตามสื่อเป็นเพียงปรากฏการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้าง ไม่ว่าจะเป็นการนำลูกช้างที่ยังเล็กมาฝึกอย่างโหดร้ายทารุณเพื่อการแสดง การใช้งานช้างอย่างหนัก รวมไปถึงการบังคับผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การดูแลช้างแบบไม่ได้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพ ส่งผลเสียต่อช้างทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติในฐานะสัตว์ป่า”
ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาช้างและการยกระดับสวัสดิภาพช้างไทย จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง นายปัญจเดช เสนอว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ….’ หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม ซึ่งถูกเสนอโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกต่อประธานรัฐสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและได้รับการเข้าชื่อสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า 16,000 คน จะเป็นทางออกที่เป็นระบบและยั่งยืน เป็นกลไกกฎหมาย ซึ่งนอกเหนือจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทำร้ายช้างรูปแบบต่าง ๆ โดยละเอียดแล้ว ยังมีเนื้อหาสำคัญในอีกหลายประเด็น เช่น การยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ การห้ามส่งออกช้างเชิงพาณิชย์ การป้องกันการค้าชิ้นส่วนช้าง การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทย เป็นต้น”
ด้าน นายนิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงสถานะของการเสนอร่างฯ ดังกล่าวว่า “ช้างเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศไทย ผมดีใจที่มีภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของช้างไทย สำหรับการลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม มากกว่า 16,000 รายชื่อ ในขณะนี้กำลังเข้าสู่กลไกการตรวจสอบรายชื่อของรัฐสภา ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในขั้นตอนต่อ ๆ ไป” ทั้งนี้ ร่างที่ถูกเสนอโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกไม่ได้เป็นร่าง พ.ร.บ.ช้างเพียงร่างเดียวที่ถูกเสนอเข้าไป ตอนนี้ยังมีร่างของกรมปศุสัตว์และพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสวัสดิภาพช้างเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากมองการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมแก้ปัญหาช้างไทย จัดระบบโครงสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับช้าง ส่งเสริมปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ให้สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความตระหนักด้านสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น ร่วมทั้งเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับภาคประชาสังคม และร่างกฏหมายฉบับอื่นเพื่อแก้ปัญหาช้างไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาช้างทั้งระบบในระยะยาว เพื่อรองรับการฟื้นตัวการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 และยังเป็นทางรอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอทางออกระยะสั้นด้วย เช่น การจัดทำธนาคารอาหารช้าง การปรับปรุงนโยบายป่าชุมชนใหม่เพื่อจัดการช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกกับสาธารณชน ที่ไม่สนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีความโหดร้ายทารุณต่อช้างแฝงอยู่ และหันมาท่องเที่ยวในรูปแบบที่มีจริยธรรมมากขึ้นแทน อนาคตของช้างไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญแล้ว ช้างไทยจะโดนทำร้ายต่อไปอีกหรือไม่ อยู่ที่พวกเราทุกคน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th