“ปศุสัตว์” เข้มคุมโรคหมูยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลอดโรค วางแนวทางลดต้นทุนการผลิต และแก้ไขราคาหมูในระยะยาว เรียกประชุมด่วนทุกพื้นที่เข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก

​เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565  นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ผ่านมา ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์โรค ASF ได้ในวงพื้นที่จำกัด และจากการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 109,942 ราย มีสุกรทั้งหมด 10,296,405 ตัว เป็นสุกรแม่พันธุ์คงเหลือในระบบการผลิตจำนวน 1,055,499 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ ราชบุรี ลพบุรี ชัยนาท บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี ตามลำดับ และสุกรขุนจำนวน 9,005,141 ตัว

ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และพัทลุง ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจำนวนแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร สำหรับจำนวนสุกรขุนลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อนำมาคิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการตลาดเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว

สำหรับประเด็นแนวทางลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.65) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีข้อสรุปเพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิมกำหนดไว้ใน 3 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และจะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ส่วนการนำเข้าช่องทางอื่นๆ ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศ โดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้น มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อความเหมาะสม

​ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีระบบปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคและลดผลกระทบความเสียหาย และได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือทำโครงการ Lanna Sand Box เป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นำร่องในระบบบริหารจัดการการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ASF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกรและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรสามารถนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ได้อย่างยั่งยืน และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กอีกด้วย

เรียกประชุมด่วนทุกพื้นที่เข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตเปิดเผยว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องชาวไทย โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด หลังจากมีการพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H3N8 ในประเทศจีน ต่อมามีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก ชนิด H5N1 ในรัฐโคโลราโดทางตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยนั้น

ล่าสุด ตนได้วันนี้ (3 พค 65 )ตนเรียกประชุมด่วนเพื่อวาวแนวทางการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก โดยตนโดยมี เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุม โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก ทั้งในคนและในสัตว์ปีก โดยปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่พบการระบาดในสัตว์ปีกทั่วโลก คือสายพันธุ์ H5N1 อีกทั้งยังพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนที่ประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยยังคงไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2551

ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในมาตรการการดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก อย่างเต็มที่พร้อมรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ปีกทั้งเชิงรุกและเชิงรับในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ด้วย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั่วประเทศไทย โดยให้มีการจัดประชุมเพื่อทบทวนแผนงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีการเข้าใจที่ตรงกันและชัดเจนในการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตามขอให้มั่นใจว่ากรมปศุสัตว์ และรัฐบาล มีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและพร้อมดูแลคนไทยให้ปลอดภัย ถึงแม้เราจะยังไม่มีสถานการณ์โรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการไม่ละเลยในการเฝ้าระวังโรค กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกท่าน และผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์ปีก หรือนกธรรมชาติในพื้นที่รอบๆที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดต่อไป