ดิจิทัล นับว่าเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อชีวิตมนุษย์เราในโลกทุกวันนี้ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลเปรียบเสมือนมันสมองที่ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรของไทย ซึ่งนับเป็นรากฐานหลักของประเทศ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พูดถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 64 ไว้ว่า มีการขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่วน และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 จะขยายตัวสูงขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 โดยมีภาคเกษตรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มากมาย มาใช้อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรยุคใหม่ ช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งเราอาจเรียกสั้นๆ ว่า “เกษตรดิจิทัล”

เกษตรดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการผลิตทางการเกษตรไปสู่ผู้บริโภค เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก การเจริญเติบโตของพืชพรรณ และอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยยุคใหม่ ก็หันนำเอาแนวคิด เกษตรดิจิทัล มาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจทางการเกษตร จนเกิดผลผลิตงอกงามและเติบโต แถมยังนำพาชุมชนให้ยั่งยืนโดยการนำความรู้และไอเดียต่างๆ มาร่วมกันแชร์และแบ่งปัน จนเกิดเป็นธุรกิจเกษตรสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล โดย รักบ้านเกิด ขอพาไปรู้จัก 3 เกษตรกรไทย จากโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2564 ที่ได้นำแนวคิดและความรู้ด้านดิจิทัล มาประยุกต์ใช้จนก่อเกิดเป็นความสุขที่ยั่งยืน

จิรภัทร คาดีวี หรือพี่เอฟ เกษตรกรจากแสนบุญฟาร์ม จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงการนำแนวคิดเกษตรดิจิทัลมาใช้ไว้ว่า “เดิมเคยทำอาชีพวิศวกรมาก่อน และเลือกออกจากงานกลับมาปลูกผักอินทรีย์เพื่อสุขภาพ เพราะวิเคราะห์แล้วว่าเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์เราได้หมด โดยนำเอาความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากที่เรียนมา นำมาพัฒนา  ต่อยอด รวมทั้งหาวิธีทำให้การทำเกษตรมันง่ายขึ้น ทั้งในเชิงด้านการผลิต การตลาด และการใช้แรงงาน ผมนำเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ และเทคโนโลยีมาช่วยเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ลดต้นทุนการผลิตไปได้มากเลยทีเดียวครับ”
ด้าน พิริยากร ลีประเสริฐพันธ์ หรือพี่วรรณ เกษตรกรหญิงจาก GardenThree จังหวัดหนองคาย เล่าว่า “ตนได้เริ่มต้นทำเกษตรจากการตอบโจทย์เล็กๆ ของตัวเองว่าให้เรามีกินแบบไม่ต้องใช้เงินให้สำเร็จ สามารถเอาความสุขในการดำรงชีวิตเป็นตัวตั้งในการทำธุรกิจ ซึ่งเราเลือกปลูกผักสลัด การปลูกผักสลัดของพี่เป็นแบบ Make to order คือผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยพี่สามารถส่งผักสดขายให้ผู้บริโภคและเปิดรับออเดอร์ได้ตลอดปี คลายความกังวลในเรื่องผักขาดช่วงไปได้เลย เพราะทางสวนของเราเลือกนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร เช่น การทำระบบแปลงผัก ที่เป็นระบบรดน้ำอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถสั่งการเปิดปิดผ่านทางมือถือ ตอบโจทย์แม้ว่าจะมีธุระหรืออยู่ที่ใกล้ไกลก็สามารถเปิดปิดและตั้งค่าได้ตลอดเวลา หรืออย่างการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในช่องทางการจำหน่าย เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง”

สุดท้ายกับ ภิญญา ศรีสาหร่าย หรือพี่โอเล่ เกษตรกรจากฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดราชบุรี ผู้สานฝันแม่ให้เป็นจริงด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาฟาร์มได้กล่าวว่า “เดิมการทำเกษตรของฟาร์มฝันแม่เกษตรอินทรีย์ เน้นการทำเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลเกษตรของฟาร์ม เรานำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดวางแผนการปลูกร่วมกับแผนวิเคราะห์ข้อมูลสถิติในการทำการตลาดให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งเดิมได้ใช้วิธีการจดเอกสาร แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นแอปพลิเคชัน และนำข้อมูลพื้นฐาน(data base) มาวิเคราะห์ข้อมูลในการวางแผนผลิตเพื่อจำหน่าย  ซึ่งทั้งนี้นอกจากการทำเกษตรบนฐานของข้อมูลแล้วเรายังนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้ผลผลิตเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นำพามาซึ่งรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมทำให้เกิดความสุขกับฟาร์มฝันแม่ของเราครับ”

จะเห็นว่าเกษตรดิจิทัลนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากกับในหลายๆ มิติ หากแต่มีการนำมาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ก็สามารถสร้างรายได้และอาชีพที่แน่นอน ซ้ำยังสามารถเกื้อกูลสังคมโดยการแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความสุขและสร้างรอยยิ้มที่ยั่งยืนสืบไป สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดท่านอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปติดตามรับชมได้ที่ www.rakbankerd.com หรือติดตามข่าวสารของรักบ้านเกิดตามช่องทางต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ Youtube:rakbankerdthailand, www.facebook.com/rakbankerd  และ  IG: rakbankerd_official  หรือแอดไลน์มาพูดคุยกันได้ที่  Line@ : @rakbankerd