ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) โดยมี นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอบ้านไร่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) นายสมิทธิ ว่องไพฑูรย์ ผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรม น้ำตาลบ้านไร่ จำกัด นายไพฑูรย์ ฟักเขียว ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ สมาคมชาวไร่อ้อยอำเภอบ้านไร่ และภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 150 คน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงสำหรับปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) ได้เสนอ “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) เนื่องจากจังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมหลากหลายชนิด โดยมีพื้นที่สำหรับการปลูกอ้อย รวมมากกว่า 3 แสนไร่ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่เขตภาคกลาง อีกทั้งอ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่มีผลผลิตติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัยโดยตรงกับความต้องการ และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงระบบประกันภัย และสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของประเทศ เป็นอย่างยิ่ง โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการเกษตรตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) ผ่านการดำเนินการเป็นรูปธรรมหลายด้าน ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งประกันภัยอ้อยถือว่าเป็นโมเดลใหม่ของประกันภัยพืชผลทางเกษตร โดยดึงผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงประกันภัย
ในการเสวนาครั้งนี้มีการเสวนาเกี่ยวกับการประกันภัยอ้อย ในหัวข้อ“เกษตรกรอุ่นใจ ด้วยกรมธรรม์ประกันภัยอ้อย”
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานี นายบุญเลิศ มักสิก ผู้จัดการฝ่ายไร่ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จํากัด นางสาวทัศนวรรณ เชาว์ดำรงสกุล หัวหน้ากลุ่มกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับบุคคล สำนักงาน คปภ. นายจักรพันธุ์ รอดอ่อง เกษตรกรชาวไร่อ้อย และนางสาวอภิญญา เฮงประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันภัย บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในประเด็นต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชอ้อย พื้นที่การปลูกอ้อยของเกษตรกร ปัญหาของการปลูกอ้อยจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ความเป็นมาของการพัฒนาประกันภัยอ้อย ความคุ้มครอง รูปแบบการรับประกันภัย การเคลมประกันภัย ทิศทางและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดำเนินการกรมธรรม์ประกันภัยอ้อยในอนาคต โดยวิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่าการประกันภัยอ้อยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้นอกจากเกษตรกรจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยอ้อยแล้ว สำนักงาน คปภ. จะนำความคิดเห็นและข้อแนะนำที่ได้จากการสัมมนาไปพัฒนาแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยอ้อยให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และส่งเสริมรูปแบบในการรับประกันภัยเพิ่มมากขึ้นต่อไป
จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยมี นายอนุชา พัสถาน ปลัดจังหวัดอุทัยธานี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมฐานความรู้เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ความเสี่ยง และวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมมีการถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในวงกว้าง อันจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวชุมชน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่งในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่นด้วยวัฒนธรรมประเพณี ที่แสดงออกผ่านผืนผ้าของพี่น้องชาวลาวครั่ง และลาวเวียง ที่มีความสวยงาม และสะท้อนถึงภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะเครื่องนอนก่อนวิวาห์ มีที่มาจากประเพณีก่อนเข้าวิวาห์ ที่เจ้าสาวต้องทอผ้าด้วยมือทุกขั้นตอน และได้รับรางวัลระดับโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) นอกจากนั้นยังมีความโดดเด่นด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ยักษ์ หรือต้นเซียงยักษ์อายุเก่าแก่หลายร้อยปี ขนาดใหญ่ ประมาณ 40 คนโอบ ความโดดเด่นด้วยวิถีการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการทำไร่อ้อย และการทำสวนเกษตร เช่น สวนผักกูด และสวนไผ่ อย่างไรก็ดีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนย่อมมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินเสมอ โดยเฉพาะบ้านเรือนในชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างด้วยไม้จำนวนมาก ซึ่งไม้เป็นวัสดุที่ติดไฟง่าย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยในบ้านที่อยู่อาศัย อีกทั้งชุมชนบ้านผาทั่งแห่งนี้ มีผ้าทอโบราณที่เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่ามาก ดังนั้นการทำประกันอัคคีภัยสามารถช่วยบริหารความเสี่ยง และสร้างความอุ่นใจแก่ชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ชาวชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและประสบกับปัญหาภัยแล้ง
อยู่เนื่อง ๆ ดังนั้นการทำประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวร์รันส์) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตาม “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์” ก็สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ด้วย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีเหตุไฟไหม้ (ไฟฟ้าลัดวงจร) ภายในบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในห้องทำงานได้รับความเสียหาย ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุทัยธานี ได้ให้การช่วยเหลือในกรณีนี้เนื่องจากมีปัญหาในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จนเป็นผลให้ชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประกันภัยอ้อย รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถใช้เป็นโมเดลสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ตลอดจนช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย