(4 ก.ย.65) จังหวัดชัยภูมิเตรียมจัดใหญ่ช่วยส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่เริ่มคลีคลาย โดย นายอนุชา  เจริญรักษ์ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ ร่วมกับนางณัฏฐ์ชุดา นันทนิ ท่องเที่ยวและกีฬา นางเภาลีนา โล่ห์วีระ นายก อบต.บ้านเล่า นายวรวุฒิ วรแสง สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชัยภูมิ และแขกผู้ร่วมงาน  ร่วมกันแถลงเตรียมการจัดงานสืบสานประเพณีบุญเดือนสิบ ประเพณีแห่ผีสุ่ม ครั้งที่ 3 ปี 2565 ที่วัดสมศรี บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านเล่า อ.เมืองชัยภูมิ ในช่วงระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2565

ซึ่งในงานนอกจากจะมีการประกวดการแต่งกายผีสุ่มทั้งประเภทสวยงาม และประเภทความคิดสรรค์ จาก 15  หมู่บ้านของตำบลบ้านเล่า และมีการแสดงของผีสุ่ม การทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งไฮไลท์ของงานในสืบสานประเพณีบุญเดือนสิบในปีนี้ คือวันที่ 11 กันยายน 2565 จะมีการแห่ขบวนผีสุ่ม ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วทั้งตำบลบ้านเล่า ยาวเป็นระยะทางขบวนยาวนับหลายกิโลเมตร ก่อนจะวกกลับมายังวัดสมศรี เพื่อร่วมกันนำข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ได้รับบริจาคมารวมที่จุดรวมทำข้าวสาก ทำพิธีถวายข้าวสาก และอุทิศส่วนกุศลให้ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ผีไม่มีญาติ เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นการทำบุญใหญ่ในบุญเดือนสิบของชาวบ้านทั่วทั้งตำบลในทุกปี

และจัดให้มีการละเล่นพื้นบ้าน ต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน ที่ชาวบ้านที่นี่ความเชื่อมายาวนานแต่โบราณ ว่ามีผีบางตนไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ที่ไม่มีใครทำบุญไปให้ ผีเหล่านั้น จึงหาวิธีการที่ตนจะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล จึงใช้วิธีเอาสุ่มดักปลา สุ่มขังไก่ มาคุมหัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น เพราะอายที่ไม่มีลูกหลานทำบุญไปให้ เพื่อให้ได้รับส่วนบุญที่ไม่มีเจ้าของ เพื่อให้ตนหลุดพ้นบวงกรรม ให้ได้ไปเกิดในชาติภพที่ดีต่อไปได้ ก่อนที่เวลาในการปล่อยผีออกมารับส่วนบุญจะหมดไป เพราะจะมียมทูต มาคอยไล่ให้ผีต่าง ๆ กลับสู่นรกภูมิ ซึ่งในการแห่ขบวนผีสุ่ม จะมีการนำอุปกรณ์ในการทำการเกษตรมาเคาะตี ให้เกิดจังหวะ แล้วร่วมกันเต้นรำ ผีสุ่มแต่ละตัวจะโยกย้าย สายเอว สายหัวที่ครอบด้วยรูปผีสุ่มโดยนำรูปหัวนกฮูก (นกแสก ตามความเชื่อมาแต่โบราณ)มาเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย รูปลักษณ์แปลกตาในเชิงสรรค์ สวยงาม ไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านต่าง ๆ จะออกมาร่วมทำบุญ นำเอาข้าวของ อาหาร น้ำดื่มมาให้ผีสุ่มที่แห่มากับขบวนแห่ พร้อมกับอธิษฐานแผ่เมตตาให้กับผีปู่ย่าของตน เจ้ากรรมนายเวร และผีไม่มีญาติทั้งหลาย ให้ได้รับส่วนบุญโดยข้าวของที่นำมาวางไว้นั้น ทางญาติๆจะแจ้งให้พระแม่ธรณีทราบไว้แล้วว่าเป็นของผีตนใด เมื่อผีมาถึงก็จะมารับและรีบกลับยมโลกต่อไป

“ส่วนผีตนใดที่ไม่มีญาติๆนำข้าวของมาฝากไว้ ก็จะไม่สามารถรับของคนอื่นได้ นอกจากผีเจ้าของจะอนุญาต ซึ่งจะมีผีไร้ญาติบางตน ต้องขอบริจาคข้าวของจากเพื่อนผีๆ แต่ด้วยความอับอาย จึงนำสุ่ม มาครอบหัว และตัว เพื่อไม่ให้ผีตนใดเห็นหน้า และร่วมสนุกสนานกับเพื่อนผี พร้อมรีบเดินทางกลับยมโลกก่อนฟ้าสาง ที่เป็นความเชื่อตามประเพณีของชาวบ้านที่นี่มายาวนาน และถือเป็นกิจกรรมการสืบสานประเพณีแห่ผีสุ่ม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวชัยภูมิ มาต่อเนื่องทุกปี”

โดยปีนี้จังหวัดชัยภูมิ ได้บรรจุประเพณีนี้ เป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านให้สืบทอดสืบไป ถึงอนุชนรุ่นหลัง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย หรือแห่งเดียวในโลกสำหรับขบวนแห่ของผีสุ่ม ที่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับที่ใด นอกเหนือจากการแห่ผีตาโขน ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย.ที่ จ.ชัยภูมิ ก็มีประเพณีแห่ผีสุ่มประเพณีโบราณเก่าอีกจุดไม่แพ้กัน  ที่ยังเป็นการ ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เกิดความสำนึก ไม่ทำตนผิดศีล ข้อ1ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และข้อ 3 ห้ามประพฤติผิดในกาม ที่ผีสุ่มตามโบราณบอกว่าการแย้งผัวเขา หรือของผู้อื่น มีบาปร้ายแรงอีกด้วย