นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 94 – 98 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าเกษตรกรยังคงแบกรับภาระขาดทุน แต่ผู้เลี้ยงยังยืนหยัดสู้เพื่อรักษาอาชีพเดียวนี้ไว้และประคับประคองการผลิตสุกรต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค ทั้งที่ในภาคการเลี้ยงต่างได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงที่สูงมาก จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2563 และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ผลักดันให้ธัญพืชอาหารสัตว์ทุกชนิดราคาเพิ่มขึ้น และกระทบกับปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย ทั้งยังมีปัญหาสภาพอากาศร้อนแล้งและอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อผลผลิต ทำให้มีอัตราเสียหายเพิ่มขึ้น สุกรโตช้า จำนวนสุกรจับออกน้อยลง ต้นทุนการเลี้ยงจึงสูงขึ้น และยังต้องซื้อน้ำสำหรับใช้ในฟาร์มในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย
“ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดขณะนี้ประมาณ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ขายหน้าเขียง และผู้บริโภค ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาคต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 154-155 บาทต่อกิโลกรัม เป็นทางเลือกและช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกร และ
ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ด้วยการซื้อข้าวโพดภายในประเทศ แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงทั่วโลก เกษตรกรก็ยังคงช่วยกันประคับประคองราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกินกิโลกรัมละ 100 บาท มาโดยตลอด หากเปรียบเทียบราคาหมูของไทยแล้ว ยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาที่ราคาขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 100 กว่าบาทแล้ว ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริงจากปริมาณหมูที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงจากปัญหาโรคระบาดเมื่อช่วงก่อนหน้า ผู้เลี้ยงที่มีระบบการป้องกันโรคที่ไม่ดีพอก็จะเสียหายมาก และกว่าจะกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ได้ต้องใช้เวลาอีก 6-12 เดือน รายที่ยังสามารถเลี้ยงต่อไปได้ ก็เพราะให้ความสำคัญกับการยกระดับด้านการป้องกันโรคและระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐาน ทั้งเกษตรกรรายเล็กและรายกลาง ที่ปรับสู่มาตรฐาน GFM รวมถึงผู้ประกอบการและบริษัทเอกชน ที่ใช้มาตรฐาน GAP ตามที่กรมปศุสัตว์ผลักดัน ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังคงมีกลุ่มผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงยังปรับตัวกับสถานการณ์ ด้วยการเลี้ยงสุกรใหญ่ขึ้น จากปกติสุกรขุนจับออกจำหน่ายที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เป็น 110-120 กิโลกรัม ทำให้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาก็ต้องจับออก ไม่มีการกักหมูไว้เพื่อเก็งกำไร เพราะนั่นคือต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ ซึ่งการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยที่ 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือราว 1 กิโลกรัมกว่าๆต่อเดือนนั้น ทำให้ค่าครองชีพในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่บาท แต่กลับช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้มีแรงทำอาชีพนี้ต่อ ไม่ต้องเลิกเลี้ยงไปจนหมด ซึ่งจะกระทบกับความมั่นคงอาหารของประเทศอย่างแน่นอน./
Post Views: 283