นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้านในหลายจังหวัด โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน เพื่อนำมาขายปะปนกับหมูไทย จากกลุ่มไอ้โม่งที่ทำมาหาทำกินบนความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูและคนไทย ทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงกับการได้รับสารเร่งเนื้อแดงและสารปนเปื้อนอื่นๆในเนื้อหมูลักลอบที่ไม่รู้แหล่งที่มา ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโรคตามข้อกำหนดและผิดกฎหมายไทย ขณะเดียวกัน ยังเสี่ยงกับโรคหมูที่จะติดมากับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายและซ้ำเติมวิกฤติในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยอย่างมาก ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ หมูผิดกฎหมายนี้จึงสร้างกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เพราะทำให้คนไทยตายผ่อนส่ง คนเลี้ยงหมูตายสนิท และเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เกษตรกรขอเรียกร้องให้ภาครัฐเข้มงวดกวดขันและเร่งกวาดล้างขบวนการนี้โดยเร็วที่สุด รวมถึงคนเลี้ยงหมู ผู้บริโภค และประชาชน ที่ทราบเบาะแสช่วยกันชี้เป้าแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเร่งจับกุมเอาผิดต่อไป
“วันนี้การบริหารจัดการด้านการป้องกันโรค ASF ในหมู กำลังดำเนินการไปด้วยดี สมาคมผู้เลี้ยงหมูทุกภูมิภาค ทุกจังหวัดต่างระดมความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการให้ข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันโรคตามมาตรฐานแก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อให้กลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และปลอดโรค สถานการณ์ต่างๆกำลังเดินหน้าไปในทางที่ดี แต่กลับมีขบวนการบ่อนทำลายชาติ
ด้วยการนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจากประเทศแถบยุโรปเข้ามาเป็นระยะ เพื่อหวังเพียงผลกำไรของตนเอง โดยไม่นึกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ในด่านชายแดนไทย และฝ่ายปกครอง เร่งสกัดกั้นและปราบปรามขบวนการนี้ให้สิ้นซากโดยเร็ว” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลอีกว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ต่างพยายามป้องกันโรค ASF และพยายามผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด โดยในภาคอีสานที่สมาคมฯ ได้เดินหน้าจัดสัมมนาสัญจรในหัวข้อ “หลังเว้นวรรค…จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” โดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสัตวแพทย์ของบริษัทเอกชน นำความรู้และเทคนิคการป้องกันโรคมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ที่ดำเนินการแล้วในหลายจังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยที่พร้อมกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งได้อย่างมั่นใจ และช่วยเพิ่มซัพพลายหมูในประเทศอย่างรวดเร็ว./