วันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นายพิรุณ วิมลอักษร นายอำเภอเมืองนนทบุรี มอบหมายนางสาวสะอาด พิมพ์สมบูรณ์ ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “ถนนกินได้ ปลูกผัก ปันรัก ปันสุข ชุมชนบ้านบางประดู่เข้มแข็ง” ขยายผลปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนนท์บุรี
ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ อำเภอโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมือง ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จากโครงการ :คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ โดยขยายผลสู่กิจกรรม “ถนนกินได้ ปลูกผัก ปันรัก ปันสุข ชุมชนบ้านบางประดู่เข้มแข็ง” ณ สวนเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 6 บ้านบางประดู่ ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี โดยมี นางสาวจิรารัตน์ ถึงสุข รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอเมืองนนทบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการของอำเภอ จิตอาสา 904 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรชุมชน หน่วยงานจากกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เป็นการรวมพลังชุมชน ช่วยเหลือชุมชน ด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน โดยการปลูกมะละกอ บริเวณถนนรอบหมู่บ้าน จำนวน 300 ต้น และปลูกผักสวนครัวจำนวน 10 ชนิด หว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลงเพื่ออนุบาลต้นกล้า ให้เป็นคลังอาหารของชุมชน โดยกรรมการหมู่บ้าน ประชาชนในหมู่บ้านร่วมกันดูแล และบำรุงต้นกล้า ซึ่งส่วนหนึ่งจะแจกจ่ายต้นกล้าให้แต่ละครัวเรือนนำไปปลูกที่บ้านของตนเอง อีกส่วนหนึ่งปลูกในพื้นที่ส่วนกลาง ผลผลิตที่เกิดขึ้นเป็นของส่วนรวม เพื่อเป็นการแบ่งปันให้กับผู้คนทั่วไป รวมถึงคนที่มีรายได้น้อย สามารถมาเก็บผลผลิตไปบริโภคได้ เพื่อช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน เป็นการแสดงถึงความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความรัก ความสามัคคี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กันและกัน

นอกจากนี้ การดำเนินงานครั้งนี้ยังสามารถเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้กับชุมชนอื่นๆ สามารถไปต่อยอดดำเนินการในชุมชนของตนเองได้

ในโอกาสนี้ นางรักใจ กาญจนวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี ได้นำทีมงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ร่วมให้กำลังใจและสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากเป็น 1 ในนโยบายสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน และของจังหวัดนนทบุรี ภายใต้โครงการ “คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ” ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงทางอาหาร ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตลอดจนสามารถสร้างอาชีพในครัวเรือนและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป