“ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ” สุดปลื้มที่เห็นทุกภาคส่วนประสานมือเป็นหนึ่งเดียว ประกาศ! พร้อมเดินหน้าเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านการบริหารเชิงบูรณาการเป็นแห่งแรกอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมได้จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาชีวิตระดับอำเภอ พชอ. ขึ้น ณ ห้องประชุมพุทธมณฑลเพื่อมอบนโยบายและติดตามแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั้งอำเภอพุทธมณฑล โดยในที่ประชุมมีตัวแทนคณะอนุกรรมการฯทั้ง 4 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ ด้านชุมชน-สังคมด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ ซึ่งมี เรือตรีธรรมรัตน์ อรุณสินประเสริฐ ผศ.ดร.อาภา ภัคภิญโญ
นายภัทรพล สังขสูตร และนายแพทย์ ปริพนธ์ จุลเจิม เป็นประธานคณะอนุกรรมการตามลำดับมีนายชาลี ทองดอนเอ สาธารณสุขอำเภอ เลขานุการของคณะฯ ตลอดจนสมาชิกของแต่ละคณะจำนวน100 กว่าคน เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพียง บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักและบรรยากาศก็ยิ่งเพิ่มความคึกคักมากยิ่งขึ้นเมื่อ ผศ.ดร.อาภา ภัคภิญโญ ผู้ทรงคุณวุฒิได้บรรยายพิเศษพร้อมการฉายสไลด์เกี่ยวกับมาตรการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยอันเป็นประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่าผู้สูงวัยนั้นมิใช่ดูแลเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้นแต่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการรองรับในอีก 5-20 ปีข้างหน้า และควรเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยเรียนวัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณกันเลยทีเดียวโดยผู้สูงวัยจะต้องได้รับการดูแลให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมสุขภาพ ด้านชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่นจะต้องมีงานทำที่เหมาะสมกับวัยไม่ปล่อยให้อยู่อย่างเดียวดาย มีเงินออมมีเงินทุนสำรองจ่ายเมื่อถึงคราวฉุกเฉิน พร้อมชี้ให้คณะอนุกรรมการเห็นถึงระบบการดูแลบุตรอย่างมีคุณภาพ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งจิตอาสาชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมบ้านวัดโรงเรียน การมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขอนามัยการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ประการสำคัญควรสนับสนุนส่งเสริมให้มีการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงความเป็นสายกลาง คือพอประมาณมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรอบรู้ และมีคุณธรรมอันจะนำไปสู่เศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมที่ดีงามจนประสบกับความสุขสมหวังในที่สุด “พุทธมณฑลจะเป็นอำเภอแรกที่เป็นต้นแบบของการสร้างระบบเพื่อรองรับผู้สูงวัย และจากการที่คณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะได้ระดมมันสมองทั้งแนวคิดในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานต่างๆ ออกมาก่อนนำไปสู่การปฏิบัตินั้นนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวอำเภอพุทธมณฑล” ผศ.ดร.อาภา ภัคภิญโญ กล่าวด้วยความชื่นชม
หลังการจบการบรรยายในช่วงเวลาแรก ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑลได้เชิญให้แต่ละคณะร่วมประชุมกันเพื่อระดมแนวคิดหรือมาตรการต่างๆ มานำเสนอที่ประชุมลำดับต่อไปซึ่งบรรยากาศของการประชุมกลุ่มเต็มไปด้วยความคึกคักเช่นเดียวกัน โดยแต่ละคณะมีการนำเสนอกระบวนการต่างๆ กันอย่างตกผลึก ก่อนที่จะส่งตัวแทนออกมาสรุปประเด็นของแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญของอำเภอพุทธมณฑลที่มีความสมบูรณ์ทางด้านเนื้อหาอันนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปนั่นเอง และนี่คือสารสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอำเภอแห่งนี้
นางสาววรรณรดา เลิศลบ ตัวแทนคณะอนุกรรมการด้านชุมชน-สังคม กล่าวว่า แนวคิดในการเตรียมการของสังคมผู้สูงวัย คือในด้านสังคมและชุมชน เราคิดว่าเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการที่เราจะส่งข้อมูลข่าวสารให้ถึงมือชาวบ้านให้เร็วที่สุด โดยการที่เราจะใช้เครื่องมือในการตั้งกลุ่มไลน์ สื่อสารก็คือจะใช้ระบบจากข้างบนสู่ข้างล่าง แล้วก็ข้างล่างขึ้นมาด้านบน คือเราจะมีทีมคณะทำงานของอำเภอเป็นชุดใหญ่แล้วเราก็จะสร้างทีมงานซึ่งเป็นชุดเล็กที่อยู่กับชาวบ้านที่เราจะได้ทีมงานอสม. ซึ่งหนึ่งอสม. จะดูแลครัวเรือนทั้งหมด 15-20 ครัวเรือน และเราจะส่งข้อมูลข่าวสารผ่านกลุ่มไลน์กรุ๊ปเล็กตรงนี้ ในส่วนของครัวเรือนถ้ามีปัญหาต้องการความช่วยเหลือก็ส่งผ่านอสม.โดยอสม.ก็จะส่งมาที่ชุดใหญ่ “อีกเรื่องหนึ่งก็คือในเรื่องของการสร้างสโมสร Day care ซึ่งทั้ง 3 ตำบล เรามีความพร้อมในเรื่องของสถานที่ ตอนนี้ที่พร้อมที่สุดก็คือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพตำบลศาลายาซึ่งเราดำเนินการอยู่แล้วในเรื่องของการสัมมนา และในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือเรื่องการให้ความรู้ทุกกลุ่มวัยที่ท่านเดินเข้ามาในศูนย์ส่งเสริมสุขภาพของเทศบาลตำบลศาลายาเราจะมีทุกวัน ส่วนความสำเร็จนั้นเราคิดว่าจะทำให้ทุกกลุ่มวัยได้รับข่าวสารเท่าเทียมกัน ตามนโยบายของ ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑลที่ได้ให้นโยบายเสมอว่าทุกคนรู้เท่ากันทราบเท่ากัน เราก็ต้องการให้วัตถุประสงค์ของท่านนายอำเภอได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย”นางสาววรรณรดา เลิศลบ กล่าวด้วยความมั่นใจ
นายภัทรพล สังขสูตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการมีแนวคิดที่จะจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เหมาะสมกับการรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคตได้คิดไว้ 3-4 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยทางด้านอาหาร ตามที่เราได้คิดและวางแผนไว้ก็คือจะไปสนับสนุนชาวบ้านหรือชุมชนให้เกิดการปลุกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้โดยจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนเอามาปรับปรุงอย่างเช่น ปลูกใส่กระถางหรือปลูกเป็นแปลงย่อยๆ เพื่อรับประทานเอง และก็ใช้ลักษณะปุ๋ยหมักทางเราจำแนกไว้เป็นขยะเปียกมาทำปุ๋ยแล้วก็เอามารวมกันในการทำผักสวนครัวปลอดภัย อีกโครงการหนึ่งที่เราคิดไว้ก็จะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการในตลาดรวมถึงลักษณะของตลาด เราอยากจะทำเรื่องของตลาดให้ผู้ประกอบการมีสุขภาวะที่ดี คือตลาดมีความสะอาดเพื่อที่จะทำให้อาหารถูกสุขลักษณะ ซึ่งถ้าอาหารสะอาดก็จะปลอดภัยในชีวิต ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปอย่างเช่นเรื่องถนนหนทางหรือแนวคิดในการทำอารยสถาปัตย์สำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุเรื่องพวกนี้เราก็จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาคงสร้างพื้นฐานเพื่อไปสนับสนุนให้เกิดอารยสถาปัตย์ใหม่ เพื่อรองรับเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกกลุ่มทุกเพศวัยทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ สำหรับสภาพแวดล้อมเราจะเน้นเป็น 4 ประเภทนี้แหละ “สิ่งที่เราทำเราก็หวังผลในระยะยาว เช่นอารยสถาปัตย์ โครงการตลาด หรือผักสวนครัวรั้วกินได้ ในระยะยาวถ้าเกิดเราหมั่นให้ความรู้และกระจายความรู้ตั้งแต่เด็กๆ ผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงอายุก็จะได้ทุกกลุ่มทุกวัย สำหรับประชาชนผู้สูงวัยในอนาคตก็จะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายภัทรพล สังขสูตร กล่าว
เรือตรีธรรมรัตน์ อรุณสินประเสริฐ และนางสาวอรอุมา อึ้งประเสริฐภรณ์ ประธานฯ-อนุกรรมการ ด้านเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางในการดำเนินงานว่ายุทธศาสตร์ของเราเน้นเรื่องการออมในทุกช่วงวัย คือส่งเสริมการออมไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยแรงงาน และผู้สูงวัย สามารถมาออมเงินกันได้เพื่อเป็นทุนรอนทุนหมุนสะสม โดยสะสมเงินทุนไว้ในยามฉุกเฉินแล้วก็เป็นทุนสำหรับการออมในครอบครัว โดยมีระยะแรกจะดำเนินการในระยะ 1 ปีนับจากนี้ไป โดยมีตัวชี้วัด คือเราสามารถจะเพิ่มเงินในอำเภอทุกคนให้ได้ผลมากขึ้น น่าจะร้อยละ 50 ขึ้นไป แล้วก็ส่งเสริมการออมทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยเรียน วัยแรงงานก็จะส่งเสริมรวมทั้งผู้นำชุมชนกลุ่มผู้สูงอายุต่างๆ ก็ให้มาออมเงินกัน ซึ่งก็คาดว่าเงินทุนคนที่จะสะสมเงินในเงินออมมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และน่าจะร้อยละ 50 ขึ้นไปของอำเภอพุทธมณฑล ส่วนความคาดหวังก็คืออยากให้อำเภอพุทธมณฑลมีเงินทุนสำหรับรองรับผู้สูงวัยในอนาคต มีเงินทุนสำหรับที่จะใช้ในยามฉุกเฉิน มีเงินทุนสำหรับสวัสดิการของตนเองในด้านต่างๆ แล้วก็สามารถเกื้อหนุนงานชุมชนได้ “สิ่งที่เราทำไปแล้ว เช่นหมู่บ้านมหาสวัสดิ์ทำกันมาตั้งแต่ 30 ปีมาแล้วมีวงเงิน 7,000,000 บาท แต่เป็นในรูปนิติบุคคล คือเป็นสหกรณ์ซึ่งเคยได้รับรางวัลระดับชาติมาแล้วเมื่อปี 2547 เป็นสหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสหกรณ์โดยสหกรณ์ของหมู่บ้านได้นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การจัดซื้อที่ดิน การสร้างปั๊มน้ำมัน และสร้างบ้านพักให้สมาชิกเช่าเพื่อพักอาศัยเป็นต้น”
นางสาวจุฑารัตน์ ลำทอง (พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ) อนุกรรมการด้านสุขภาพ ได้กล่าวถึง แนวทางการดำเนินงานว่า แนวคิดในการทำงานรองรับผู้สงอายุด้านสุขภาพ เราจะมีแนวคิดว่าการดูแลด้านสุขภาพก่อนจะมาเป็นผู้สูงวัยนั้นควรดูแลตั้งแต่วัยเด็กวัยเรียน วัยรุ่น แล้วก็วัยทำงานเพื่อให้สุขภาพดี พอไปถึงวัยสูงอายุก็จะเป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีติดตามมาด้วย โดยการทำงานของแต่ละกลุ่มวัยเราก็จะพัฒนาไปแต่ละช่วงอย่างวัยเด็กเราก็ควรมีการพัฒนาถ้าเด็กมีพัฒนาการสมวัยก็จะเป็นวัยที่มีคุณภาพ แต่หากมีพัฒนาการล่าช้าเราก็สมควรที่จะกระตุ้นให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ส่วนวัยรุ่นเราก็จะเน้นเรื่องของเด็กที่มีภาวะอ้วนการมีภาวะอ้วนลงพุงจะทำให้ชีวิตในอนาคตจะมีโรคค่อนข้างเยอะและภาวะนี้ก็จะมีผลทางด้านสติปัญญาตามมา ส่วนวัยทำงานจะเป็นจุดอีกจุดหนึ่งคือจะมีโรคแทรกเข้ามาค่อนข้างเยอะ ทั้งโรคอ้วน มะเร็ง โรคซึมเศร้า ถ้าเรามาค้นหาคัดกรองในกลุ่มมีการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มวัยทำงานให้ดีสู่วัยผู้สูงอายุต่อไปพอถึงวัยผู้สูงอายุก็จะมีกลุ่มติดบ้าน ติดเตียงอีกสังคมหนึ่ง กลุ่มนี้จะต้องมีผู้ดูแลซึ่งขณะนี้มีผู้ดูแลผู้สูงอายุน้อยมากในชุมชนเราควรจะมีการพัฒนาในกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุซึ่งเราหวังว่าในปี 2566 ในพชอ.จะมีการพัฒนาเพื่อดูแลสังคมผู้สูงวัยให้มีคุณภาพดีขึ้น “เรารู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินงานขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงวัยในอนาคตเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เธอกล่าวในที่สุด
ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑล ได้กล่าวในตอนท้ายก่อนปิดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งทางรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมได้ให้ความสำคัญก็เลยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาให้ทุกอำเภอ 878 แห่งดำเนินการขับเคลื่อนให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม พวกเราก็จะมีคณะกรรมการมีทั้งพชอ.แล้ววันนี้เราจะมีคณะอนุกรรมการพชอ.ในการขับเคลื่อนทั้ง 4 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และพวกเราก็เป็นระดับมันสมองของอำเภอในแต่ละด้าน ที่เรามานั่งตรงนี้แต่ละท่านไม่ธรรมดาเลย ซึ่งทางอำเภอมีความภาคภูมิใจที่ได้มีวันนี้ นายอำเภอขอชื่นชมคำกล่าวของผศ.ดร.อาภา ภัคภิญโญ ที่ท่านได้กล่าวกับพวกเราไว้ว่าพวกเรามารวมตัวกันสร้างประวัติศาสตร์ในการทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง งานนี้เป็นงานสำคัญของการขับเคลื่อนพุทธมณฑลซึ่งพวกเราก็จะมีส่วนร่วมกันมาตลอด วันนี้จะเป็นวันประวัติศาตร์ในการทำงานในการขับเคลื่อน โดยเราจะขับเคลื่อนในแต่ละด้านตามยุทธศาสตร์ว่าทำอะไรบ้าง แล้วอีก 2 เดือนค่อยมาคุยกัน มานำเสนอในที่ประชุมว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร และติดขัดอะไรจึงค่อยมาคุยกัน “นายอำเภอรู้สึกดีใจและอยากจะออกใบประกาศเกียรติคุณให้กับพวกเราในการขับเคลื่อนพวกเรา 100 คนหรือประมาณ 24 กลุ่ม เดี๋ยวนายอำเภอจะทำใบประกาศเกียรติคุณและขอขอบคุณพวกเราที่ได้ชื่อว่าท่านได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่พุทธมณฑลเริ่มตั้งแต่วันนี้แล้วก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ยังไงนายอำเภอก็จะทำประกาศเกียรติคุณให้เพื่อเป็นการกราบขอบพระคุณเป็นที่ระลึกว่าวันนึงเวลาหนึ่งเรามานั่งตรงนี้ตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสี่โมงครึ่ง เรามานี่ทำอะไรกันบ้างเรามาระดมมันสมองมาระดมความคิดมาแชร์เพื่อประโยชน์คือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชนในอำเภอซึ้งใจทุกท่าน” ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ กล่าวในที่สุด และเมื่อคำกล่าวสิ้นสุดลงก็ได้รับเสียงปรบมือแสดงความขอบคุณตอบแทนกลับมาจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างกึกก้องนับเป็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักสำหรับการประชุมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับอำเภอ
อนึ่ง! การประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพุทธมณฑลหรือพชอ.ดำเนินการภายใต้คำสั่งอำเภอพุทธมณฑลที่ 252/2565โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่พ.ศ. 2561 ข้อ7โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวผ่านการคัดเลือกและคัดกรองจากภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนมาแล้วเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านเพื่อระดมแนวคิดเพื่อพักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง มีทั้งสิ้น 4 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละคณะจะมีประธาน เลขานุการและคณะกรรมการจำนวน 20 รายขึ้นไปและเป็นการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561-2580) ด้านการปรับสมดุลย์และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐบริหารงานแบบบูรณาการโดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกระดับ ทุกประเด็น ทุกภารกิจ ทุกพื้นที่ ซึ่งจากนโยบายสำคัญดังกล่าว ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑล จึงมีคำสั่งที่ 252/2565 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2565 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวขึ้น แล้วจัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมนั่นเอง
จับตา! การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเชิงบูรณาการของคณะอนุกรรมการการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพุทธมณฑลภายใต้การนำของดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ จะสามารถเดินหน้าจนบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด และสามารถสร้างประวัติศาสหน้าใหม่ให้กับจังหวัดนครปฐมได้หรือไม่ต้องติดตามกันต่อไป