สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอำนาจเจริญ (นายสุเมธ พัฒนะราช นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอเมืองอำนาจเจริญ) จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) ภายใต้โครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชน ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่บ้านปลาค้าว หมู่ 1,2,3,10 ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อสร้างโอกาส ใช้ความหลากหลายของชุมชนไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดทำรูปแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการชุมชนในการรองรับและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว รวมไปถึงประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการชุมชน (Champ) และชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวต่อไป
นายวรเพ วงค์น้อย ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองอำนาจเจริญ รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองอำนาจเจริญกล่าวว่า “ชุมชนบ้านปลาค้าวนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นมีสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็น วัดฉิมพลี วัดศรีโพธิ์ชัย วัดเก่าแก่สำคัญของบ้านปลาค้าวและจังหวัดอำนาจเจริญ มีพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย ประดิษฐานเป็นที่เคารพของชาวจังหวัดอำนาจเจริญและบุคคลทั่วไป ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดศรีโพธิ์ชัย รวมถึงโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนที่ดึงจุดเด่นสินค้าภายในชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวได้ลงมือปฏิบัติได้ด้วยเองไม่ว่าจะเป็น
โปรแกรมที่ 1 ทอผ้าลายโบราณ
โปรแกรมที่ 2 แจ่วบองสมุนไพร
โปรแกรมที่ 3 น้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โปรแกรมที่ 4 เนื้อแห้งแดดเดียว
โปรแกรมที่ 5 การเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต (การทอเสื่อกก)
โปรแกรมที่ 6 ดอกไม้ประดิษฐ์
โปรแกรมที่ 7 ข้าวจี่ทรงเครื่อง
โปรแกรมที่ 8 สานศิลป์ถิ่นหมอลำ (ตะกร้าพลาสติก)
โปรแกรมที่ 9 จักสานไม้ไผ่ (กระติบข้าว)
และโปรแกรมที่ 10 ทอผ้า ส่วนจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ จุดแสดงสมุนไพร เพราะในปี 2566 นี้ท่านทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญท่านได้วาง Positioning ของจังหวัดให้เป็นเมืองสมุนไพรอีกด้วยครับ”
เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนธรรมชาติที่สวยงามสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เป็นเครือข่ายสนับสนุน สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากใกล้ชิดวิถีชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ นั่นคือความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน