วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นเวทีที่ 3 ภาคกลาง ต่อเนื่องจากภาคเหนือ ที่จังหวัดน่าน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และกระบวนการจัดเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมผ่านระบบแอปพลิเคชัน ดำเนินโครงการโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “โครงการแนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำระดับชุมชนในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม”
โดย นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดตั้งและพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำให้มีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม 33 ตำบล ใน 5 ภูมิภาค ครอบคลุม 15 จังหวัด สรุปและประมวลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กนช. รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายธนวัฒน์ สิงห์วนาวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผลโครงการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมี นางสาวอภิสรา เกษอินทร์ นายอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี กล่าวต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองผักแว่น และองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำชุมชนแต่ละตำบล และมีสื่อมวลชน ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความเห็น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 5 ภูมิภาค เพื่อช่วยยกระดับองค์กรผู้ใช้น้ำในการวางแผนน้ำของพื้นที่ที่จะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นในอนาคต ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ในการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน วช. จึงได้สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาระบบข้อมูลน้ำชุมชนผ่านระบบ DATA STUDIO เพื่อสนับสนุนการทำข้อมูล TWR ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำและเกิดแผนการจัดการน้ำชุมชนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2558 – 2569) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ร่วมกับภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการพัฒนาศักยภาพในการเก็บข้อมูลชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยการใช้แอปพลิเคชันในการจัดเก็บข้อมูลแหล่งต้นทุนน้ำของชุมชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของนวัตกรรมภายใต้การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มีความมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมรู้ถึงคุณค่าของน้ำ โดยแผนงานวิจัยเข็มมุ่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องเรื่องของการยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ จะเห็นว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำจะต้องรวมตัวกันสร้างความเข้าใจและดูปริมาณน้ำในพื้นที่มีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ให้ใช้น้ำในพื้นที่ให้เต็มที่เป็นโครงการแผนงานของ วช. บางโครงการชาวบ้านดูแล บางโครงการก็เป็นหน้าที่ของ อบต. ในส่วนนี้ถ้ามีฐานข้อมูลและโอกาสที่เหมาะสมก็ทำโครงการได้โดยใช้หลักการทางวิชาการ เพราะฉะนั้นในโครงการวิจัยต้องการให้ 1.องค์กรผู้ใช้น้ำแข็งแรง 2.หน่วยงานสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดูแลกันได้ในระยะยาว 3.เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนกับ อบต. หน่วยงานจังหวัด ขณะนี้จะเห็นว่าโครงการวิจัยกำลังเชื่อมโยงว่าผู้ใช้น้ำไปจดทะเบียน มีกรรมการผู้ใช้น้ำเชื่อมโยงกับ อบต. อันนี้คือเป็นระบบหนึ่งที่สร้างขึ้นมา และให้เกิดการบูรณาการ ส่วนบนที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำหนดบทบาทชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไร ส่วนล่างก็ต้องร่วมมือในแต่ละจังหวัด จะเห็นว่ากระบวนการที่ทำอย่างน้อย 3 โครงการจะรู้แล้วว่ารวมกลุ่มอย่างไร เริ่มวางแผนเก็บข้อมูล ทำเป็น studio data ซึ่งเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้การสำรวจข้อมูลที่ไม่ลงรายละเอียด ทำให้ดำเนินการไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้น้ำ แนวทางวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว ไปสู่ระบบที่ชัดเจน สื่อมวลชนจะเห็นการดำเนินงานวางแผนที่ผ่านมาในสองภูมิภาค ทางเหนือก็จะเป็นฝายมากกว่า ทางอีสานก็เป็นสระ ภาคกลางก็จะเป็นบึง ทางใต้ก็ลงทะเลแล้วก็จะเป็นฝายแล้วก็มีบ่อเก็บ แต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน เรามีอยู่ประมาณ 7,000 กว่าตำบล ดำเนินการ 33 ตำบล ใน 5 ภูมิภาคก่อน ระยะยาวต้องทำ 8,000 ตำบล อยู่ระหว่างที่จะต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร แนวคิดแต่ละลุ่มน้ำจะดำเนินการโดยเครื่องมือนี้ต้องเป็นระบบที่ข้อมูลต้องแยกกันได้แต่ละพื้นที่ที่สามารถเข้าใช้งานได้สะดวก
นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาและการวางแผนบริหารจัดการน้ำไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ พื้นที่นอกเขตชลประทานการใช้น้ำของคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่มีกระบวนการหรือรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม ขาดการจัดเก็บข้อมูลและขาดการมีส่วนร่วมในชุมชนในการวิเคราะห์และวางแผนการบริหารการจัดการน้ำของกลุ่มชุมชน นำไปสู่แนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยผ่านระบบแอปพลิเคชันข้อมูลน้ำชุมชน DATA STUDIO แผนน้ำชุมชน เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมใน 15 จังหวัด ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค โดยพื้นที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ราบสูงมีภูเขาส่วนหนึ่ง พื้นที่เป็นดินร่วนปนเหนียวมีความสมบูรณ์ค่อนข้างสูง เป็นแหล่งน้ำลำธาร ได้แก่ น้ำซับในป่าจำปีสิรินธร ซึ่งเหมาะแก่การฟื้นฟู และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชาวบ้านประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ เป็นอาชีพหลัก แหล่งน้ำส่วนมากเป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นอยู่ในเขตป่าสงวน ชาวบ้านจะใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากน้ำใต้ดิน โครงการจึงได้สนับสนุนการทำธนาคารน้ำใต้ดิน และฝายกั้นน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ในช่วงฤดูการเพาะปลูก หรือมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำแต่ละตำบล ได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ DATA STUDIO เพื่อกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำในอนาคต กลไกความร่วมมือของเครือข่าย ชุมชน เครือข่ายวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลโดยพัฒนาเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำและการสนับสนุนการ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
หลังจากเสร็จจากเวทีระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ แล้ว วช. ได้นำคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมทำข่าว เพื่อให้สื่อมวลชนช่วยเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้จากการวิจัยในโครงการธนาคารน้ำใต้ดินฯ ในครั้งนี้ต่อสาธารณชน ซึ่งมีสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวประมาณ 20 คน ณโครงการธนาคารน้ำใต้ดินฯ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เพื่อให้เกิดการขยายผล เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และมีน้ำใช้ตลอดเวลา และเกิดการเพิ่มของเศรษฐกิจชุมชนจากการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ นำไปสู่การขยายผลและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป