สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำกำลังการผลิตไก่เนื้อมีเพียงพอต่อความต้องการในราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกช่วงเนื้อสัตว์และอาหารปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค ด้วยมาตรการเลี้ยงและระบบป้องกันโรคตามมาตรฐานสากล นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ภาคปศุสัตว์ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตถึง 3 ชั้น คือ 1.โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี 2.ผลกระทบจากการบุกรุกของรัสเซียในยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นทั่วโลกเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีประมาณ 30% ตลอดจนน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล หรือ มากกว่า 20% และ 3.การระบาดของโรค ASF ในสุกร ทำให้การผลิตเนื้อหมูหายไป 50% และโรคยังคงหลงเหลือในประเทศไทย ส่งผลราคาปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่มีน้อยขณะที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมไก่เนื้อ แม้จะต้องเผชิญปัญหาจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นเดียวกัน แต่ผู้เลี้ยงไก่พยายามบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เสริมแหล่งโปรตีนทางเลือกให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญราคาเข้าถึงได้มีแม้จำเป็นต้องปรับราคาหน้าฟาร์มเพื่อให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากเดือนมกราคม 2565 ที่ราคา 39 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 42 บาทต่อกิโลกรัม ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปรับอย่างสมเหตุผลและมีปริมาณเพียงพอการผลิตเดินหน้าโดยไม่ให้หยุดชะงักและไม่ขาดแคลน “สิ่งที่ภาคปศุสัตว์เป็นกังวลและจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในระดับสูงคือ ราคาเนื้อสัตว์ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากรัฐบาลต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงในการตรึงราคาไว้ แต่เมื่อต้นทุนการผลิตปรับขึ้นรอบด้านในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ควรให้กลไกตลาดทำงานเพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และผู้บริโภคได้อาหารในราคาที่เป็นธรรม” นางฉวีวรรณ กล่าว
นางฉวีวรรณ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงไก่ก็ประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่างกับผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการเนื้อไก่ลดลงมากและราคาตกต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจรวมถึงการประกาศให้ทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้ผู้เลี้ยงต้องชะลอการเลี้ยงและการจับสัตว์ ทั้งที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลปริมาณที่ออกสู่ตลาดและราคาไม่ให้ตกต่ำมากจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ในฐานะผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เป็น
เครื่องหมายรับรองอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยว่ายังเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทั้งระบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์และกระบวนการผลิตและแปรรูป โดยส่งออกไปยังประเทศที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูง เช่น อังกฤษ และประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น
“เนื้อไก่มีโปรตีนสูงกว่าเนื้อหมู 3 เท่า แต่ราคาถูกกว่าเนื้อหมูมาก และเนื้อไก่ที่จำหน่ายในประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานส่งออก ที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อหมูในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาสูงได้” นางฉวีวรรณ กล่าว สำหรับราคาเนื้อไก่และชิ้นส่วนต่างๆในตลาดสดยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคา ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 ไก่ทั้งตัวเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ที 75 บาท อกไก่ 85 บาท น่องไก่ 65 บาท ขณะที่ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 42 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งเนื้อไก่สามารถปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูไม่ต่างจากเนื้อหมู และเป็นทางเลือกในช่วงที่หมูมีราคาแพงได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรการสนับสนุนต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้มีการนำเข้าในส่วนที่ขาดแคลนและยกเลิกอุปสรรคการนำเข้า เช่น ภาษีและโควต้านำเข้า และให้ราคาเนื้อปรับขึ้นลงตามกลไกการตลาดและมีมาตรการป้องกันโรคที่เคร่งครัด เพื่อรักษามาตรการผลิตและส่งออกเนื้อไก่ของไทยตามมาตรฐานสากล สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค