นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายนำเข้าสุกรจากต่างประเทศ ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เนื่องจากปริมาณเนื้อหมูในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับราคาสุกรลดลงแล้วทั้งหน้าฟาร์ม และหน้าเขียง จากการปฏิบัติการของภาครัฐที่เข้าแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ถูกจุด คาดว่าสถานการณ์ราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆนี้ การไม่ให้มีการนำเข้าเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงสุกร เพื่อเพิ่มปริมาณสุกรเข้าสู่ระบบ “สถานการณ์ราคาสุกรในขณะนี้อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามกลไกตลาด ปริมาณผลผลิตสุกรกลับมาสมดุลกับการบริโภค โดยก่อนหน้านี้ผู้เลี้ยงได้มีมติร่วมกันดูแลระดับราคาสุกรหน้าฟาร์มตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค ล่าสุดราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเกษตรกรโดยรวมปรับมาอยู่ที่ 94-97 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 94.69 บาทต่อกิโลกรัม” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวด้วยว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคผู้เลี้ยง โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนการเลี้ยง อย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ หนึ่งในต้นทุนสำคัญของการเลี้ยงสุกร คิดเป็นสัดส่วนที่ 60-70 % ของต้นทุนรวม โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดเคลื่อนไหวในช่วง 10.50 – 11.00 บาทต่อกิโลกรัม ด้านกากถั่วเหลือง ที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ก็มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ล่าสุดมีราคาที่ 20.85 บาทต่อกิโลกรัม หากภาครัฐพิจารณาช่วยลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2 % ให้เป็น 0 % รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนเพื่อลดความเสียหายจากโรคในสุกร และสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ จะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ และเป็นอีกแรงผลักดันให้เกษตรกรทั้งรายย่อย-รายเล็กกลับเข้าในระบบได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เลี้ยงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงนักวิชาการได้ช่วยกันจัดอบรมถ่ายทอดความรู้การบริหารจัดการฟาร์มและการป้องกันโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดอบรมมาแล้ว 2 ครั้งในเดือนมกราคม ล่าสุดกำหนดจะจัดอบรมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จ.ศรีสะเกษ และในวันที่ 26 มีนาคม จะจัดที่ขอนแก่น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรสามารถยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยให้ฝูงสัตว์ปลอดภัยจากโรคระบาด มีสุกรป้อนเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร