นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศพร้อมใจกันสนองนโยบายรัฐบาล โดยรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มอยู่ไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังเริ่มนโยบายเปิดประเทศ 1 พฤษภาคมนี้ “ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการรักษาระดับราคาสุกรเพื่อผู้บริโภค แม้ยังคงต้องรับภาระต้นทุนมาตรการด้านสุขภาพสัตว์ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง และยังคงรอความชัดเจนกับแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ตาม ด้วยขณะนี้กำลังเข้าสู่การเปิดประเทศ และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 100 บาท/กก.” นายสิทธิพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 17/2565) วันพระที่ 30 เมษายน 2565 จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีราคาดังนี้ ภาคตะวันตก 98-100 ภาคตะวันออก 98-100 ภาคอีสาน 98-100 ภาคเหนือ 100 ภาคใต้ 98 สถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่การเกิดโรคระบาด ASF ทำให้จำนวนเกษตรกรและปริมาณผลผลิตสุกรหายไปจากระบบกว่า 50% ส่งผลถึงปัจจุบันที่ปริมาณสุกรมีน้อยกว่าความต้องการบริโภค ไม่มีการกักตุนใดๆจากผู้เลี้ยงรายใหญ่ หรือรายกลางทั้งสิ้น รวมถึงไม่มีการจับมือขึ้นราคาตามอำเภอใจ ราคาที่ขยับจึงขึ้นอยู่กับระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ย้ำวอนรัฐอย่านำเข้าเนื้อสุกร รวมทั้งเร่งสกัดกั้นและกวาดล้างขบวนการ “ลักลอบนำเข้าหมู” ที่นำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมายจากเยอรมนี บราซิล แคนาดา อิตาลี เกาหลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกาเข้ามาสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น เช่น เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล จนทำให้พบสินค้าเหล่านั้นกระจายขายอยู่ในประเทศโดยเฉพาะย่านราชบุรี-นครปฐม รวมถึง ยังมีความพยายามที่วิ่งเต้นยกระดับการลักลอบนำเข้า ให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพื่อความสะดวกในการทำมาหากินด้วย ซึ่งเท่ากับบั่นทอนอาชีพเกษตรกร และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ขณะนี้ทุกคนในวงการเลี้ยงหมู ต่างพยายามป้องกันโรค ASF และผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมั่นใจและรวดเร็ว หากปล่อยให้มีการนำเข้าหมูก็จะลดแรงจูงใจในการกลับเข้าระบบของผู้เลี้ยง ขณะที่หมูนำเข้านั้นมีโรคหมูประจำถิ่น ที่เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการเลี้ยงหมูของไทย และยังปนเปื้อนสารอันตรายอย่างเช่นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารต้องห้ามและผิดกฎหมายไทย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งจะก่อผลกระทบร้ายแรงต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค นอกจากอาชีพคนเลี้ยงหมูจะล่มสลาย ต้องพึ่งพาหมูนอกเรื่อยไป คนไทยยังต้องตายผ่อนส่งไปกับการถดถอยของความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจไทยคงยากที่จะฟื้นฟู
“การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจะขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเข้าสู่สมดุลได้เอง ซึ่งเป็นการจูงใจให้ผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นในระบบ ช่วยเพิ่มผลผลิตเนื้อหมูด้วย และเป็นการแก้ปัญหาราคาหมูอย่างยั่งยืน” นายกสมาคมฯ กล่าว