ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ว่าพบหนูระบาดในนาข้าวและไร่ข้าวโพดจังหวัดเชียงรายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายรวมกว่า 11,095 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้และช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของหนูดังกล่าว เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและสามารถจัดการและป้องกันกำจัดหนูได้อย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงนี้นาข้าวหลายพื้นที่อยู่ในระยะตั้งท้อง และข้าวโพดฤดูฝนอยู่ในระยะออกไหมสร้างเมล็ด จึงขอเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง หมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันหนูเข้ามาทำลายผลผลิตที่กำลังจะให้ผลพร้อมเก็บเกี่ยว
ลักษณะการทำลายของหนู สามารถพบได้ตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูก โดยในนาข้าวนั้น หนูจะกัดกินเมล็ดข้าวที่เริ่มงอก หากข้าวเข้าสู่ระยะแตกกอหนูจะกัดต้นข้าว แต่อาจจะไม่กินข้าวที่กัดนั้นทั้งหมด เมื่อข้าวออกรวงหนูจะกัดกินลำต้นหรือคอรวงให้ขาด แล้วแกะเมล็ดออกจากรวงกิน ทั้งยังเก็บสะสมรวงข้าวไว้ในรัง เพื่อเป็นอาหารหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวด้วย สำหรับข้าวโพด หนูจะคุ้ยดินและกัดกินเมล็ดที่เพิ่งปลูกหรือเริ่มงอกใหม่ๆ เมื่อข้าวโพดอยู่ในระยะติดฝักจะกัดต้นให้ล้มเพื่อแทะกินเมล็ด หรือ ปีนต้นข้าวโพดขึ้นไปกัดกินเมล็ดตั้งแต่ฝักอ่อนจนถึงเก็บเกี่ยว
วิธีการป้องกันกำจัดหนูทำลายผลผลิตทางการเกษตร เกษตรกรจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูก และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู ใช้กรงดักหรือกับดักจับ หรือ ใช้สัตว์ศัตรูธรรมชาติ เช่น นกแสก เหยี่ยว รวมทั้งหมั่นสำรวจแปลงปลูกเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากสำรวจพบร่องรอยการทำลายของหนู หรือรูหนูในพื้นที่ที่จะเพาะปลูกให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ ใช้กรงดักหรือกับดักร่วมกับการใช้เหยื่อพิษตามคำแนะนำ และ/หรือ เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู โดยเหยื่อพิษมี 2 ประเภท ได้แก่ สารประเภทออกฤทธิ์เร็ว เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์ 80 % ชนิดผง 1 กิโลกรัม ผสมกับเมล็ดพืช (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวโพดป่น) 100 กิโลกรัม ผสมเป็นเหยื่อพิษก่อนปลูกข้าววางตามคันนาหรือแหล่งที่หนูอาศัยรอบแปลงปลูก จุดละประมาณ 1 ช้อนชา ห่างกันประมาณ 5-10 เมตร แต่ไม่ควรใช้เกิน 1 ครั้ง ต่อ 1 ฤดูปลูก เพราะทำให้หนูเข็ดขยาดต่อเหยื่อพิษได้ง่าย ส่วนสารประเภทออกฤทธิ์ช้า เช่น โฟลคูมาเฟน 0.005 %, โบรมาดิโอโลน 0.005 %, โบรดิฟาคูม 0.005 %, ไดฟีไทอาโลน 0.0025 % โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 100 กรัมหรือประมาณ 20 ก้อน/ไร่ หรือ คูมาเตตระลิล 0.0375 % อัตรา 400 กรัม หรือประมาณ 40 ก้อน/ไร่ วางในภาชนะใส่เหยื่อบนทางเดินของหนูตามคันนาหรือใส่ลงในรูหนูโดยตรง หรือวางตามแหล่งที่มีหนูระบาด ควรใช้เหยื่อพิษกำจัดหนู 2 – 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้เมื่อข้าว หรือธัญพืชเริ่มปลูกครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ใช้หลังวางเหยื่อพิษครั้งแรกไปแล้ว 30 และ 60 วัน ตามลำดับ ควรวางเหยื่อพิษในแนวป้องกันรอบ ๆ แปลง เพื่อป้องกันหนูเคลื่อนย้ายมาในแปลง สำหรับเหยื่อโปรโตซัว ให้ใช้ในอัตรา 20 – 25 ก้อน/ไร่ โดยวางจุดละ 1-3 ก้อน บริเวณรอยทางวิ่ง หรือรอยทำลายให้ทั่วแปลง ตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนเกี่ยวแต่ละครั้งห่างกัน 15 – 20 วัน โดยต้องระวังไม่ให้โดนน้ำหรือแสงแดดและควรถูกหนูกินภายใน 1 สัปดาห์ จึงจะให้ผลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนู