นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลสำเร็จ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรในทุกช่วงวัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อไปสู่เป้าหมายของงานส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมให้เกษตรกร สามารถผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นสู่การเกษตรที่ยั่งยืน
ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศกลางภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ AgriMap 2 ซึ่งเป็นโครงการที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยนำข้อมูลเชิงพื้นที่จาก 12 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจัดทำแพลตฟอร์มแผนที่กลาง ที่สามารถช่วยบริหารจัดการ วิเคราะห์ และแบ่งปันข้อมูลเชิงพื้นที่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในงานส่งเสริมการเกษตรและมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเชิงลึกได้
โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีภารกิจในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในกลุ่มผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม ทำนาเกลือ และเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ทำให้เป็นฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเพาะปลูกของเกษตรกร รวมถึงมีการวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น Geoplot, QGIS หรือใช้เครื่อง GPS ออกเดินสำรวจรอบแปลงเพาะปลูกพื้นที่จริง หรือตรวจสอบโดยภาพถ่ายแปลงเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร ผู้นำชุมชน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนการดำเนินงาน และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่านระบบ AgriMap 2 อาทิ การตรวจสอบชั้นความเหมาะสมของดินในแปลงเพาะปลูก การตรวจสอบจุดความร้อนในแปลงเพาะปลูก การค้นหาแหล่งรับซื้อสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การตรวจสอบราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มแผนที่กลาง หรือ AgriMap 2 นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ด้วยการใช้ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ มีความแม่นยำสูง สามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการต่อยอดพัฒนาโครงการส่งเสริมการเกษตรต่างๆ เพื่อมุ่งเป้าในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเพาะปลูก การตลาด และการบริหารจัดการความเสี่ยง สามารถช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการวางแผนสำหรับการพัฒนางานภาคการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป