นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีมอบ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อยกระดับภาคปศุสัตว์ไทยสู่ 4.0 หนุนศูนย์สมาร์ทฟาร์มของมหาวิทยาลัย และร่วมพัฒนาวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ถ่ายทอดสู่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ
นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และซีพีเอฟ ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับภาคปศุสัตว์ของไทยด้วยนวัตกรรมสู่ยุค 4.0 ด้วยการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐานสากลภายใต้ระบบปิด (EVAP) เป็นฟาร์มรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม สำหรับพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกทักษะภาคปศุสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร ของนักศึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่คณาจารย์ ตลอดจนการให้บริการทางวิชาการ พร้อมทั้งพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ที่ทันสมัย ของนักศึกษาซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป “โครงการฟาร์มสาธิตฯ ถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมที่ซีพีเอฟตั้งใจส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัย ช่วยผลักดันการพัฒนาทางวิชาการและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย สู่บุคลากรให้มีทักษะด้านการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยบริษัทสนับสนุนงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับบุคลากรและนักศึกษา กระทั่งสามารถนำเทคนิควิชาการไปขับเคลื่อนโครงการได้อย่างยั่งยืน” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสมพร เจิมพงศ์ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์และซีพีเอฟ มีเป้าหมายเดียวกันในการมุ่งพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรสมัยใหม่ และพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ตลอดระยะเวลาการผนึกกำลังในการดำเนินโครงการฯ มานานกว่า 3 ปี โรงเรือนสาธิตฯสุกรขุนและไก่ไข่ในระบบปิดอัตโนมัติ ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการฟาร์มในรูปแบบกรีนฟาร์ม กลายเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านปศุสัตว์ให้แก่นักศึกษาที่สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานในฟาร์ม เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่พวกเขานำไปเป็นพื้นฐานการทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับ สู่ชุมชนและเกษตรกร ผ่านกลไกของศูนย์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การผลิตสัตว์มีคุณภาพ ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ มุ่งมั่นผลักดัน “ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม” เพื่อพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเดิม ให้เป็นการบริหารฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากซีพีเอฟ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระดับโลก เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนสู่การเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรกรชาวนครศรีธรรมราช และภูมิภาคใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างแน่นอน./