เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ ลานวัฒนธรรมวัดท่าคก อ.เชียงคาน จ.เลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย (สวมเสื้อเชิ้ตลายทาง) เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ลุ่มแม่น้ำโขง โดยการจัดงานดังกล่าวนี้ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชียงคาน รูปแบบ Sandbox
เพิ่มการรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาภายใต้มาตรการความปลอดภัย ของสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน SHA และ SHA+ แล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพียงฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วและแสดงต่อสถานประกอบการในจังหวัดเลย ก็สามารถท่องเที่ยวได้ทุกพื้นที่ด้วยมั่นใจ
นางสาวณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดเลย (สวมเสื้อสูทสีน้ำตาล) กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ลุ่มแม่น้ำโขง ณ จังหวัดเลย กิจกรรม: สวมหน้ากาก ยลงานศิลป์ เช็คอินริมโขง ระหว่างวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2565 ณ ลานวัฒนธรรมวัดท่าคก ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ด้วยมิติทางวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ งานด้านศิลปวัฒนธรรม อีกทั้ง ส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมทำงาน วัฒนธรรมทำเงิน และวัฒนธรรมทำดี” กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
- การแสดงผลงานจากการประกวดศิลปะร่วมสมัย “เทศกาลหน้ากาก” (Mask Festival)
- การสาธิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย ( CPOT / CCPOT)
- กิจกรรมถนนสายศิลปะ(Street Art at Loei)
- การจัดแสดง “ผ้า ลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเลย”
- การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น/ร่วมสมัย
และที่จะสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว คือวันเปิดงานในวันที่ 12 มีนาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป จะมีขบวนพาเหรดหน้ากากหลากสีสัน (Mask Festival) มากกว่า 300 คน โดยเริ่มขบวนจากวัดศรีคุนเมือง เดินตามถนนคนเดิน ถึงลานวัฒนธรรมวัดท่าคก ซึ่งทุกคนจะพร้อมใจกันสวมใส่หน้ากากหลากสีสัน ร่วมชมโคมไฟหน้ากากหลากสีและมีการแสดงบนเวทีกลาง ซึ่งในงานวันนั้นได้รับเกียรติจาก นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นประธานเปิดงาน
นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย กล่าวเสริมว่า ในด้านการประชาสัมพันธ์ ทาง ททท.สำนักงานเลย ได้ดำเนินการบันทึกงานนี้ลงในคู่มือปฏิทินท่องเที่ยวประจำเดือนมีนาคมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลยเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงานในปีต่อๆ ไป แล้ว ตลอดจนได้ขอความร่วมมือไปยังชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงคาน นำภาพโปสเตอร์ และข้อความใส่ในเพจของแต่ละสถานประกอบการเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวล่วงหน้า รวมทั้งจัดทำตัวอย่างกำหนดการท่องเที่ยวไว้เป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมงานนี้
เพื่อเป็นการบอกเล่าให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัสกับกิจกรรมอันเป็นวิถีชีวิตของคนเชียงคาน วัฒนธรรมใส่บาตรข้าวเหนียว ขี่จักรยานชมบ้าไม้เก่าแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกท่องเที่ยวทางเรือล่องแม่น้ำโขง กราบรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน ชมจุดชมวิวมุมสูงของแม่น้ำโขงที่ภูทอก สัมผัสความเสี่ยว ซาบซ่าท้าหัวใจได้ที่สกายวอล์คเชียงคาน ตลอดจนสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทดำ ณ หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด ได้อีกด้วย
#หลงเลย #เลยรัก #เลยรอ #รอเลย #ท่องเที่ยววิถีใหม่ ห่างไกล COVID-19
#เชียงคาน Sandbox #เชียงคาน TOP100 #เมือง ต้องห้ามพลาด
#ท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี #เที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองเลย