การเคหะแห่งชาติจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและเยี่ยมชมโครงการที่น่าสนใจของการเคหะแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมาย นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ นางชฎารัตน์ ไชยเสน ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายเอกพล เทพมณี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนางสาววนิดา สุทธิช่วย ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ซึ่งเป็นต้นแบบของโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) ที่มีความโดดเด่นเรื่องกระบวนการ มีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนจนทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนครอบคลุมทุกมิติ
นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้บรรยายถึงความเป็นมาของโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) ว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการ SSC ตามยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2560-2570 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับชุมชนเข้มแข็งภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตอบสนองกลยุทธ์ที่ 2 ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้อย่างเป็นระบบ และยกระดับชุมชนให้เป็น Smart Sustainable Community สอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
สำหรับแนวทางการดำเนินงานการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการ “SSC” มาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ “SSC” ในมิติที่แตกต่างกันจนสามารถเดินหน้าโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564 และเป็นแนวทางสำคัญของโครงการบ้านเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ส่วนหลักเกณฑ์การประเมินชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งเน้น “ชุมชนอัจฉริยะ (Smart community)” และความยั่งยืน (Sustainable)
โดยบูรณาการ่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญหรือมีความพร้อมด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางดำเนินนการร่วมกันเพื่อความยั่งยืน มีด้วยกัน4 มิติ 48 ตัวชี้วัด ได้แก่ มิติที่ 1 การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ให้โอกาสในการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ มิติที่ 2 ความมั่นคงของระบบนิเวศ มุ่งดำเนินการใน 5 ด้าน คือ คุณภาพอากาศ น้ำ และพลังงาน การบริหารจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย และการจัดการพื้นที่สีเขียว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน ขณะที่มิติที่ 3 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ดำเนินการให้ความรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้
รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และพัฒนาชุมชนให้สามารถประหยัดค่าไฟในครัวเรือนบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ส่วนมิติที่ 4 สุขภาวะทางสังคม มีการดำเนินการด้านสุขภาพที่เพียงพอให้กับชุมชน มีความปลอดภัยและมีสุขภาวะที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวในสภาวะต่าง ๆในปีงบประมาณ 2565 การเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกชุมชนที่ผ่านการประเมินระดับที่ 3 ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนมาประเมินเป็นชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 4 ชุมชน คือ บ้านเอื้ออาทรระยอง(บ้านฉาง 3) บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 บ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 10/2 และบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่ บางพลี(เฟส 2) ทั้งนี้ในชุมชนที่ประเมินในปี 2564 คือ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ยังดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คงเป็นชุมชนตามเกณฑ์การประเมินชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
นายวิชัย บุญคำเรือง ผู้นำชุมชนบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับโครงการชุมชนอัจฉริยะน่าอยู่อย่างยั่งยืน SSC ที่บางโฉลงในช่วงแรกได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชน ต่อมาการเคหะแห่งชาติและหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ทำให้สามารถขยายกิจกรรมได้มากขึ้นและครอบคลุมใน 4 มิติ ตามหลักเกณฑ์การประเมินชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งภายในชุมชนได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยในวันนี้ก็ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลการดำเนินโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า SSC ของชุมชนบางโฉลง (นิติ 1) จำนวน 5 ฐาน
ได้แก่ ฐานที่ 1 ป้ายแสดงวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องวัดคุณภาพอากาศ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ “Sensor for All”ร่วมกับการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้อาศัยในชุมชนติดตามและป้องกันตนเองจากฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ฐานที่ 2 แปลงผักชุมชน จะเป็นพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตเราจะนำมาขายที่ร้านค้าวิสาหกิจชุมชน และโพสต์ขายผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งนอกจากผักสดแล้วก็ยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ น้ำพริก ขนมไทย เป็นต้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยที่ทำงานประจำได้มีโอกาสซื้อผัดสดในราคาที่ถูกกว่าตลาด โดยทางเราจะเก็บไว้ให้ เมื่อกลับจากที่ทำงานก็มารับผักหรือของกินที่สั่งไว้
ฐานที่ 3 ถัง EM และบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางชุมชนได้จัดทำ EM หรือจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากที่การเคหะแห่งชาติเคยเข้ามาอบรมให้ความรู้ไว้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆของการจัดสร้างชุมชนบางโฉลง และเมื่อได้ EM ที่พร้อมใช้งานก็จะนำมาเทที่บ่อบำบัด รวมถึงให้ผู้อยู่อาศัยนำไปใช้ ทำความสะอาดในครัวเรือน นอกจากนี้ยังบริหารจัดการน้ำในบ่อหน่วงน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อลดค่า BOD
โดยใช้กังหันเติมออกซิเจนบนผิวน้ำด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง
ฐานที่ 4 วิสาหกิจชุมชน จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1) การให้บริการเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ (หยอดเหรียญ) และ 2) ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากการเคหะแห่งชาติร่วมกับธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่ชาวชุมชนสามารถผลิตสินค้าและนำมาฝากขายได้ โดยสมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะได้รับเงินปันผลทุก ๆ 3 เดือน และ
ฐานที่ 5 ธนาคารขยะ ได้จัดตั้งกลุ่มขยะรีไซเคิลโดยจัดทำตะแกรงสำหรับรับบริจาคขยะโดยแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน และแจกถุงตาข่ายที่ใช้สำหรับการคัดแยกขยะตามครัวเรือน เพื่อนำมาขายให้กับกลุ่มขยะรีไซเคิล ซึ่งผลจากการบริหารจัดการขยะนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนขยะ จากเดิม 12,000 บาท/เดือน ลดเหลือ 7,200 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 37.50 นอกจากนี้ยังมีการกำจัดขยะอินทรีย์ในชุมชนให้มีปริมาณลดลง สามารถจัดการขยะต้นทางได้อย่างต่อเนื่องมากว่า 7 ปี ทำให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste)ปี 2564 และปัจจุบันปี 2565 เป็น 1 ใน 30 ชุมชนจากจำนวนสามร้อยกว่าชุมชนที่ส่งเข้าประกวด และเป็นชุมชนเดียวที่เป็นอาคารแนวสูงอีกด้วย
“สิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการชุมชนอัจฉริยะน่าอยู่อย่างยั่งยืน SSC ในชุมชนบางโฉลงนั้นคือ ความตั้งใจ และการร่วมมือร่วมใจกันทำของคนในชุมชนที่อยากเห็นชุมชนแห่งนี้มีความน่าอยู่อาศัย ที่นี่เป็นอาคารแนวสูง ที่แม้ว่าแต่ละห้องจะมาจากต่างถิ่น แต่เราก็อยู่กันเหมือนครอบครัว เหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนและนำพาสิ่งดี ๆ เข้ามาในชุมชนเพื่อให้ที่นี่เป็นชุมชนเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”
Post Views: 309