วันที่ 24 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการบูรณาการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนสังคมในพื้นที่ของ กอ.รมน. อันเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ณ อาคารรื่นฤดี กอ.รมน. เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ ประสานการปฏิบัติ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนัก ในหน้าที่ที่จะเทิดทูน พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เป็นหลักในการดำเนินงานโดยมีกลไกโครงสร้างของส่วนบริหาร ส่วนอำนวยการ ส่วนประสานงานและส่วนปฏิบัติงานในพื้นที่ สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งหวังเป็นกลไกหนึ่งในการร่วมปฏิบัติพัฒนานำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ ตามเจตจำนงของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับ กอ.รมน. หน่วยงานภาคความมั่นคงที่ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหารรวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในระยะแรก นับเป็นความร่วมมืออันดีในการส่งต่อองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่พื้นที่ชุมชน สู่ศูนย์เรียนรู้ ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง นำองค์ความรู้สู่ประชาชนในพื้นที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งบนฐานความรู้ ด้านการวิจัยและนวัตกรรมและการก้าวเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่ 2 ของความร่วมมือนี้ วช. และภาคส่วนวิจัย พร้อมร่วมดำเนินการกับ กอ.รมน. ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ในการนำองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลผลิต การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืน อันนับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนและชุมชนฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 27 ส.ค. 65 ที่จะถึงนี้ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีต้นแบบเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย จนสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น พร้อมด้วยพิธีมอบรางวัลให้กับชุมชนต้นแบบที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 7 ชุมชน รางวัลชุมชนดีเด่น ได้แก่ พาราโบลาโดม จากวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง, นวัตกรรมเครื่องผ่าไม้และจักตอกแบบเลาะข้อ จากชุมชนบ้านทุ่งนาค จ.สุรินทร์, เครื่องอบแห้งอินฟราเรดเทคโนโลยีการผลิตข้าวฮางงอก จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านไผ่เขียว จ.อุตรดิตถ์ และ นวัตกรรมระบบผลิตผักและปุ๋ยหมัก จากชุมชนบ้านโหนดหมู่ จ.พัทลุง ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนบ้านบางแตน จ.ปราจีนบุรี, ระบบการผลิตผักและข้าวโพดฝักสด จากกลุ่มเกษตรกรสมาชิกศูนย์ส่งเสริมการเกษตรครบวงจรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จ.สระแก้ว และเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากชุมชนบ้านวังช้าง จ.ชุมพร
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องตามพันธกิจของ กอ.รมน. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ด้วยการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม