นายรพีทัศน์ อุ่นจิตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากระยะนี้ในหลายพื้นที่มีฝน ทำให้สภาพอากาศชื้นต่อเนื่อง และกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะยังคงมีฝนในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวชื้นมีหมอกในตอนเช้า และมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งสภาพอากาศในลักษณะนี้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของแมลงบั่วเข้าทำลายนาข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นที่ต่าง ๆ ในระยะนี้หมั่นสำรวจแปลงนาและเฝ้าระวังแมลงบั่วด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากขณะนี้เริ่มพบแมลงบั่วในบางพื้นที่ของจังหวัดตากแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ได้เร่งให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืช
การระบาดของแมลงบั่ว ตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายยุงตัวสีส้มจะเข้ามาในแปลงนาช่วงสภาพอากาศชื้นและมีฝน เพื่อเตรียมวางไข่เมื่อมีการปลูกข้าว และมักระบาดมากในระยะข้าวแตกกอหรือระยะกล้าข้าวในบางแห่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ระบาดสูงสุดในเดือนธันวาคม ดังนั้น เกษตรกรจึงควรเร่งป้องกันการวางไข่และกำจัดตัวหนอนของแมลงบั่ว ซึ่งจะเข้าทำลายส่วนเจริญของตายอด ทำให้เป็นหลอดลักษณะคล้ายหลอดหอม หรือเรียกว่า “หลอดบั่ว” ซึ่งจะปรากฎภายใน 1 สัปดาห์หลังจากแมลงบั่ววางไข่ หากสำรวจพบควรรีบกำจัด ซึ่งเมื่อตัวหนอนเข้าไปทำลายจุดเจริญของข้าวแล้วจะทำให้ต้นข้าวและกอข้าวแสดงอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้ม ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ และทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก โดยเมื่อข้าวเกิดช่อดอกแล้วจะไม่พบการเข้าทำลาย แมลงบั่วจะอาศัยและเจริญเติบโตอยู่บนพืชอาศัยจำพวกข้าวป่าและหญ้าต่าง ๆ ได้ 1 – 2 ชั่วอายุ เพื่อเตรียมทำลายข้าวที่จะปลูกในรอบต่อไป เกษตรกรจึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่อง และหมั่นสำรวจนาข้าว ตลอดจนกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายได้ทันต่อสถานการณ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขและป้องกันกำจัด เกษตรกรไม่ควรหว่านข้าวหรือปักดำข้าวถี่เกินไป และควรกำจัดวัชพืชรอบแปลงนาเป็นประจำ เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไช หญ้าชันอากาศ เพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว หากพบการเข้าทำลายของแมลงบั่วให้ถอนต้นที่พบหลอดของแมลงบั่วออกจากแปลงนาไปทำลาย รวมถึงใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยในช่วงเวลา 19.00 – 21.00 น. มาทำลาย รวมทั้งควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงนา เช่น แมงมุม ด้วงดิน และแตนเบียนของแมลงบั่ว ซึ่งจะช่วยควบคุมการระบาดได้