กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เผยทิศทางการจัดสรรทุนปี 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ประเภท เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมโครงการ และงานวิจัยที่มีศักยภาพในประเทศไทย โดยมุ่งผลักดันโครงการคุณภาพสู่โครงการต้นแบบ ให้กับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มุ่งหวังเพื่อประโยชน์สาธารณะ และในภาพรวมของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งการจัดสรรทุนในการศึกษาวิจัย กทปส. ต้องการให้เป็นการพัฒนาโครงการต้นแบบ

นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า กทปส. ได้ส่งเสริมพัฒนาโครงการมอบทุนต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ซึ่ง กทปส. พิจารณากรอบวงเงินแนวทางการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ประจำปี 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 โครงการหรือกิจกรรมที่เกิดจากผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (ทุนแบบเปิดกว้าง Open Grant) กรอบจำนวน 300 ล้านบาท ประเภทที่ 2 โครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด จำนวน 600 ล้านบาท โดยมีการประกาศมอบทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละประเภทมีแนวทางในการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีงบกองทุนสื่อที่วางกรอบวงเงินไว้ปีละ 500 ล้านบาท

“การจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ประจำปี 2562 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุนประเภทที่ 1 เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เกิดจากผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (ทุนแบบเปิดกว้าง : Open Grant) จำนวน 300 ล้านบาท มีเงื่อนไขการจัดสรรเงิน ดังนี้ 1. ทุนเพื่อสนับสนุนการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และทุนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร วงเงินไม่เกินโครงการละ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยเปิดให้รับทุนไม่เกิน 3 เดือน และภายใต้เงื่อนไข โครงการที่มีไอเดียแนวคิดจากหน่วยงานภายนอก โดยจะพิจารณาตามวัตถุประสงค์โครงการ 2. ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา วงเงินไม่เกินโครงการละ 50 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 3 ปี”

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ ทุนประเภทที่ 2 เป็นโครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด โดยมีวงเงินจำนวนเงิน 600 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1. โครงการมุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน หรือทุนตามยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) 2. ทุนที่มอบให้เฉพาะส่วนราชการเปิดให้หน่วยงานราชการยื่นขอทุนเท่านั้น 3. โครงการต่อเนื่อง โดยดำเนินการวิธีตกลงกับหน่วยงานที่เคยได้รับทุนที่ยื่นขอเพื่อนำไปต่อยอดโครงการเดิม ทั้งนี้จะจำกัดการพิจารณาเฉพาะโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น

นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสรรทุนฯ มีการดำเนินงาน คัดสรรคัดกรองที่เป็นระบบ มีความชัดเจน การยื่นโครงการมีความหลากหลายเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่ง กทปส. ต้องการสร้างสรรค์โครงการคุณภาพสู่การพัฒนาสังคมและประเทศเป็นจุดสำคัญ ดังนั้น จะเห็นว่าการมอบทุนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติการให้ทุนตั้งแต่ปี 2556 สำหรับทุนประเภทที่ 1 มีโครงการผ่านจำนวน 10 โครงการ วงเงิน 30 ล้านบาท ปี 2557 มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 18 โครงการ วงเงินเพิ่มมาเป็น 110 ล้านบาท ส่วนปี 2558 – 2559 ไม่มีการจัดสรรทุนประเภทที่ 1 แต่จัดสรรทุนประเภทที่ 2 เพิ่มขึ้นมา และในปี 2561 มีการจัดสรรทุนทั้งประเภทที่ 1 และ 2 คู่กัน ซึ่งในปี 2561 มีการจัดสรรทุนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 40 – 50 โครงการ วงเงินปรับขึ้นเป็น 300 – 400 ล้านบาท

“ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ กทปส. เล็งเห็นถึงการพัฒนาต่อยอดได้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อาทิ โครงการต้นแบบด้านสุขภาพ โครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะคล้าย Tele Health รูปแบบทำแบบครบวงจรมีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาล ผ่านแอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อสำหรับแพทย์ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ ถือเป็นโครงการต้นแบบจากหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คือ โครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ เป็นการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพื่อออกกำลังปอดและออกกำลังกาย ซึ่งในตลาดมีการผลิตจำหน่าย แต่อุปกรณ์ที่วางจำหน่ายไม่มีชิฟ IoT ฝังอยู่ ซึ่งผู้ป่วยที่พักฟื้นอยู่ที่บ้านหากติดอุปกรณ์ที่มีชิฟ IoT แพทย์จะสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำกายภาพและออกกำลังกายได้สม่ำเสมอผ่านมาการเก็บข้อมูลคนไข้จะจดบันทึก อุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลในชิฟส่งผ่าน IoT ไปยังแพทย์ผู้รักษา โดยโครงการยื่นขอทุนเพื่อขยายผลอุปกรณ์ที่ได้พัฒนาสู่ภาคประชาชน ส่งผลต่อการรักษาต่อผู้ป่วย ซึ่งอีก 2 ปีอุปกรณ์พัฒนาสมบูรณ์ได้มาตรฐานการใช้งานจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในประเทศอย่างแน่นอน” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวสรุปว่า กทปส. ยังเปิดรับข้อเสนอโครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 326,750,000 บาท จำนวน 21 โครงการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม รวมถึงการส่งเสริมการผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ การผลิตรายการเด็ก รายการพหุวัฒนธรรม รายการที่ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ การผลิตรายการร่วมกับต่างประเทศ และรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้อมูลการยื่นข้อเสนอโครงการ

สามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนและกรอกแบบคำขอได้ที่ http://fpma.nbtc.go.th และจัดส่งข้อเสนอโครงการมายังสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนา เลขที่ 888 อาคารไอทาวเวอร์ ชั้น 6 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900