สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” พร้อมเดินหน้ายกร่าง จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์” ครั้งแรกที่จังหวัดขอนแก่น มี 7 กลุ่มผู้นำทางสังคมกว่า 100 คนเข้าร่วมฟัง หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ “ภัยในตลาดเงิน และ ภัยในตลาดทุน” ชี้ 7 มูลฐานความผิดใช้ “Class Action” ได้
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า สมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม – Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน โดยเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม – Class Action” ขึ้นมา และเพื่อให้นักลงทุนและประชาชนเข้าถึงในวงกว้างเพิ่มขึ้น ทางสมาคมได้ จัดสัมมนาสัญจรร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ปีนี้มีแผนจัดสัญจร 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น, เชียงใหม่ และสงขลา และทั้ง 3 จังหวัดมีบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เปิดสาขาเพื่อให้บริการกับนักลงทุน โดย ขอนแก่น มีจำนวน 16 สาขา,เชียงใหม่จำนวน 26 สาขาและสงขลาจำนวน 20 สาขา มีมูลค่าซื้อขายติดท็อป 5 โดยเชียงใหม่มูลค่าซื้อขายอยู่ติดอันดับ 2 ขอนแก่น มีมูลค่าซื้อขายติดอันดับ 4 และ สงขลามีมูลค่าซื้อขายอันดับ 5
นายยิ่งยง กล่าวว่าได้จัดสัมมนาสัญจรครั้งแรก ในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย 2566 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มผู้นำทางสังคม 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทนายความ กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครอง และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า100 คนเข้าร่วมสัมมนา “หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2566 พบว่า มีการดำเนินการปรับทางแพ่ง รวมทั้งสิ้น 11 ราย 4 คดี มีมูลค่าปรับทางแพ่งรวมกว่า 84 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่า ปี 2565 ทั้งปี ที่มีการปรับทางแพ่ง ทั้งสิ้น 42 รายจำนวน 8 คดี มี มูลค่าปรับ 74.03 ล้านบาท ส่วนกรณีของ STARK ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ การที่ตลาดทุนไทยมีกฎหมาย Class Action ก็น่าจะเข้ามาดูแลนักลงทุนได้” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและ ธปท.จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงินและการลงทุน ขอนแก่นเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากร กว่า 1.8 ล้านคน จาก 26 อำเภอ เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทน อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน และจากตัวเลขการทำผิดทางคดีออนไลน์ ที่ได้ขอมาจากตำรวจภูธรจังหวัด พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค ถึงวันที่ 12 พ.ค 2566 มีคดีทั้งหมด 5,500 คดี มียอดเงินที่ถูกหลอกไป 147 ล้าน แต่อายัดได้แค่ล้านกว่าบาท และคดีฉ้อโกงออนไลน์ของขอนแก่นก็สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการและเครื่องมือเข้ามาช่วยก็จะสามารถดูแลประชาชนได้
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า “ เทคโนโลยีใหม่ทั้งการซื้อขายและการชำระเงินแบบ Digital ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ ๆ จึงถือเป็นพันธกิจร่วมกันของภาครัฐและเอกชน ที่จะให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรู้ทันและลดอันตรายจากภัยดังกล่าว ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการและเดินสายให้ความรู้กับประชาชนต่อเนื่อง ได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะหากดูสถิติตัวเลขต่างๆ ได้ลดลงจากช่วงก่อนหน้ามาก และ ธปท.ก็พร้อมสนับสนุนการสัญจร เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนได้รับข้อมูล มีความเข้าใจ พร้อมรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้นจทั้งจากตลาดเงินและตลาดทุน
น.ส พรนิภา สินโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมถึงภัยตลาดเงิน ว่าพัฒนาการการชำระเงินทางออนไลน์ขยายตัวถึง 30-50% ในปีนี้ และจากข้อมูลที่แบงค์ชาติเก็บในเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทาง Internet Banking หรือ Mobile Banking และทางพร้อมเพย์ที่มีบัญชี 140 ล้านบัญชี การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ มาพร้อมกับภัยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้จากสถิติกการแจ้งความออนไลน์พบว่า 5 อันดับ ที่มีการแจ้งความเข้ามา อันดับ 1 คือการหลอกให้ซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีจำนวน 89,791 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 1,307 ล้านบาท อันดับ 2 คือ การหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 34,071 คดี มูลค่า 4,108 ล้านบาท อันดับ 3 หลอกให้กู้เงิน จำนวน 31,202 คดี มูลค่าเสียหาย 1,293 ล้านบาท อันดับ 4 หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 21,626 คดี แต่มูลค่าเสียหาย 10,420 ล้านบาท และอับดับ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call center) จำนวน 19,271 คดี มูลค่าเสียหาย 4,180 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับประชาชนและนักลงทุน รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนไม่โอน ไม่กดลิงค์เข้าไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
“จากความร่วมมือกันของทุกหน่วยงาน การตั้งศูนย์รับเรื่องออนไลน์ การมีตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้สถิติการรับแจ้งออนไลน์ที่เคยสูงมากถึง 27,000 คดี ในเดือนธ.ค 2565 ลดลงมาเหลือ 20,000 คดี ในเดือนมี.ค และมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังถือว่าเยอะอยู่” น.ส พรนิภา กล่าว
ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจและนิติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า Class Action สามารถนำมาใช้กับความผิดในตลาดทุน ได้หลายรูปแบบ ที่เป็นความผิดตาม พรบ.หลักทรัพย์ การผิดสัญญาชำระหนี้ในตราสารหนี้ต่างๆ เช่นหุ้นกู้ หากไม่ ปฎิบัติตามสัญญาแล้วก็ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ลงทุนสามารถรวมกันฟ้องได้ การทำผิดเกี่ยวกับ เปิดเผยข้อมูลต่างๆ หากเมื่อถึงเวลา ข้อมูลที่เคยการเปิดเผยไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น เปิดเผยข้อมูลจะมีโปรเจ็กต์ที่จะดำเนินการในอนาคต ที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโต มีผลให้ราคาหุ้นสูงขึ้น แต่ไม่ได้ดำเนินโครงการ เมื่อผลปรากฎต่อสาธารณะชัดเจนว่าไม่ได้ลงทุนในโครงการดังกล่าว นักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาวิ่งขึ้น ก็สามารถที่จะรวมกลุ่มฟ้องได้ เป็นต้น
ดร.ภูมิศิริ กล่าวว่า Class Action มีผลบังคับใช้มานานแล้ว แต่ที่ยังไม่มีผลเชิงปฏิบัติ เพราะทนายความยังไม่ค่อยให้ความสนใจ ยังไม่ทราบว่ามีเรื่องของคดีกลุ่ม ซึ่งน่าจะมาจาก Class Action ยังเป็นเรื่องใหม่ อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของค่าตอบแทนอาจไม่ค่อยคุ้มค่า ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีการกำหนดไว้ว่า 30% แต่ ในทางปฏิบัติ ได้ไม่ถึง 30% เป็นต้น นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยยังพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแล้วก็รวบรวมข้อมูลต่างๆ หรือว่าช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีต่างๆ การจะเป็น Class Action ได้ส่วนใหญ่จะต้องมีผู้เสียหายเยอะมากๆ แต่ในทางกลับกันการทำงาน กับผู้เสียหายจำนวนมากๆที่อยู่กระจัดกระจายกันทั่วประเทศ ก็เป็นเรื่องยาก และยังมีปัญหาจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหาย อาจหายไปในระหว่างการดำเนินคดี รวมถึงการกลั่นกรอง คัดแยก ยืนยันตัวตนสมาชิกกลุ่ม ต้องชัดเจน ซึ่งถ้าสมาชิกกลุ่ม ไม่มีความถูกต้องชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์คนที่ไม่ได้เสียหายจริงๆเข้าไปบนอยู่ หรือคนที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยากจะทำให้คดีไปไปในทิศทางที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มใหญ่แต่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเล็กๆแทนเป็นต้น
ดร.ภูมิศิริ กล่าวว่า จากการศึกษา Class Action ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนนาดา พบว่าโมเดล ที่เหมาะกับประเทศไทย คือ แคนนาดา ซึ่ง เป็นโมเดลที่มีการจัดตั้ง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นมาอยู่ภายใต้ในเครือข่ายของรัฐ สามารถพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ ประสานงานในลักษณะที่เป็นส่วนกลางได้ ทำให้เกิดการช่วยเหลือคดี ได้จริงๆ และศูนย์ฯ สามารถ เผยแพร่ความรู้ข้อมูลต่างๆ อำนวยความสะดวกต่างๆ มี Network กับ องค์กร ทั้งภาครัฐหรือเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อยได้และยังสามารถช่วยตั้งต้นนำเข้าสู่การดำเนินคดีดีแบบกลุ่มหรือ Class Action ได้
นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ยังร่วมกับ สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ ผู้ที่มีความสนใจ ในสายวิชาชีพนี้อีกด้วย