ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยพร้อมเครือข่ายยาง ร่วมขับเคลื่อนนโยบายยางพาราตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายปี 2566 เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางกับภาคอุตสาหกรรมยางพาราไทยสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC สำหรับการจัดแถลงข่าวครั้งนี้ มี นายอำนวย ปะติเส นายกสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง, Dr.Boonthong Bouahome President of LRA (นายกสมาคมยางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) และ Mr Chen Jinlong Executive Dilecter Xinthai Long Industary Co.Ltd (ผู้แทนภาคธุรกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน), นายจิระวิทย์ มีชูภัณฑ์ ผู้อำนวนการการยางพาราแห่งประเทศไทย เขตภาคกลางและภาคตะวันออก และนายธีระพงศ์ พงศ์อุทธา ผู้อำนวยการการยางพาราแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง และนายบุญสวยโสภณ สกุลกิจเจริญชัย ประธานจัดหารายได้ และประชาสัมพันธ์ สมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแถลงข่าวการจัดงานในครั้งนี้ด้วย
ดร.อุทัย กล่าวว่า “มหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023” ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยการจัดงานครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง, วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างเป็นระบบ โดยการดึงนักลงทุน SME ไทยและต่างประเทศได้มาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รองรับมติคณะรัฐมาตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ในการสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมแปรรูปในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC อันจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายยางพาราตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนายางพาราและพืชเศรษฐกิจในองค์รวมเกิดความยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายอำนวย ปะติเส นายกสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง กล่าวเสริมว่า การจัดงานมหกรรมยางพารา และพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานยางพาราที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนครั้งแรก ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย เพราะปัญหาการตลาดของเกษตรกรชาวสวนยาง มีมาก รอภาครัฐไม่ได้ เอกชนและเกษตรกรต้องร่วมคิดร่วมทำ และร่วมพัฒนา กันไปก่อน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหลายฝ่าย การจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรม ความรู้ โนฮาว เทคโนโลยีใหม่ๆ การเพิ่มมูลค่าการตลาดยางพารา จากคู่ค้า จากประเทศจีน และลาว จะมาร่วมกิจกรรม ในงานนี้ด้วย จึงอยากเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางพารา ทั้งภาครัฐ และบริษัทเอกชน รวมถึงเกษตรกรชาวสวนทุกท่าน มาร่วมออกบูธ มาเที่ยวชมงาน ในวันและเวลาดังกล่าว และหวังว่ามหกรรมงานยางพาราที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับอาชีพและธุรกิจยางพาราในอนาคตอย่างแน่นอน
ประเทศไทยมีจุดเด่นเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตยางเป็นอันดับหนึ่งของโลกมากว่า 30 ปี(ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534)และมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา อาทิเช่น ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ปริมาณ 5,168,837 ตัน ส่งออกเป็นวัตถุดิบ 4,176,529 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80.80 ของผลผลิตยาง ซึ่งมีมูลค่า 175,977 ล้านบาท ใช้ในประเทศเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 925,808 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.91 ของผลผลิตยาง มีมูลค่าการส่งออก 379,424 ล้านบาท โดยสรุป ปี พ.ศ. 2564 ยางพารามีรายได้เข้าประเทศรวม 555,401 ล้านบาท (ที่มา :กองการยางกรมวิชาการเกษตร, 2565) และจากตัวเลขการส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางซึ่งมีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางให้มากขึ้นจะส่งผลต่อการการสร้างงาน-สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและภาพรวมของประเทศไทยอีกด้วย