ในยุครุ่งเรืองของดิจิทัลที่ผู้คนใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสาร อยู่ภายในอาคารมากกว่าการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็มีความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แสนสิริ จึงวางวิสัยทัศน์ For Greater Well-being เพื่อต่อยอด 2 แนวคิด Green & Well-being ชวนสังคมร่วมกันปลูกต้นไม้ในใจ ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปจัดสวนถาด ‘สดชื่นแบบมินิ พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดของการปลูกต้นไม้’ ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรามีต้นไม้ในใจไม่ว่าต้นไม้จะใหญ่หรือเล็ก พื้นที่จะกว้างหรืออยู่คอนโดมลภาวะร่างกายและจิตใจจะแก้ได้ด้วยต้นไม้ หวังช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับชีวิตของมนุษย์ เพราะหากปราศจากต้นไม้ ก็อาจจะเรียกได้ว่าปราศจากชีวิต
จริยา จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “เรื่องราวต้นไม้ของแสนสิริ ‘Sansiri Tree Story (แสนสิริ ทรี สตอรี่)” เกิดขึ้นจากการเห็นคุณค่าความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ที่ใส่ใจมองให้ลึกลงไปถึงคุณค่าของต้นไม้ที่มีต่อชุมชน จึงเกิดเป็นแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ในโครงการที่อยู่อาศัยของแสนสิริ เพื่อสร้าง Joyful Moment ความสุขในการใช้ชีวิตที่คงคุณค่าให้อยู่กับเราตลอดไป ฉะนั้น แนวทางการออกแบบภูมิสถาปัตย์ของแสนสิริ คือ ‘เราออกแบบคุณค่า’ เชื่อมโยงให้ต้นไม้อยู่กับคนและคนอยู่กับต้นไม้ ได้อย่างเห็นคุณค่า เก็บรักษา ส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืน เพื่อสังคมอนาคต”
โดยหลักคิดในการวางพื้นที่สีเขียวในแต่ละโครงการของแสนสิริ ก็คือ “จะปลูกต้นไม้ให้ยั่งยืนเริ่มที่การปลูกต้นไม้ในใจ เราเห็นคุณค่าของต้นไม้ที่มากกว่าลักษณะทางกายภาพ เราเห็นความผูกพัน โดยเฉพาะในต้นไม้เก่า เราจะเห็นอดีต เห็นประวัติศาสตร์ เป็นที่เก็บความทรงจำของธรรมชาติ เปรียบเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่ยืนหยัดมาจนถึงรุ่นเรา เขาสอนเราได้หลายเรื่อง ยิ่งถ้าเป็นในเรื่องกระบวนการเก็บต้นไม้เก่า ต้นไม้สอนเราเรื่องความละเอียดอ่อน ความมุ่งมั่น ความอดทน เอาชนะต่ออุปสรรคต่างๆ” จริยาเล่าเพิ่มเติม
ด้าน อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน ที่ควงจ๋า อลิสา และ น้องพอล มาช่วยกันจัดสวนถาดไม้บำบัด กล่าวว่า “อั๋นเห็นคุณค่าของต้นไม้ในมุมของความเป็นมิตรเอื้ออาทรที่มีให้กับทุกคนในชุมชน ทุกๆ สิ่งมีชีวิตที่ได้มาอาศัยจนเกิดเป็นระบบนิเวศเฉพาะ นอกเหนือจากแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความร่มเย็น สบายใจสบายตา เป็นความอบอุ่น ที่เมื่อไรมาหามายืนดู มาแวะทักเขาก็พร้อมต้อนรับเราเสมอ จนบ่อยครั้งเราก็เผลอคุยกับต้นไม้ ต้นไม้มีความอัศจรรย์ เขาช่วยบำบัดเราได้ เมื่อเราไปอยู่ในพื้นที่สีเขียว ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เราจะรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย มีความสุขมากขึ้น ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์”
ส่วนมุมมองของ เป๋า–วฤธ หงสนันทน์ กับการที่เกิดมาในบ้านที่มีต้นไม้ใหญ่ ทำให้มองเห็นธรรมชาติในการใช้ชีวิต คือความมั่นคงบนความสมดุลเพราะกว่าต้นไม้ใหญ่จะเติบโตจนสูงให้ร่มเงาเขาได้ผ่านบททดสอบ ผ่านร้อนผ่านหนาว ต้นไม้ที่จะโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องมีระบบรากที่มั่นคงก่อนเสมอ ก่อนที่จะค่อยๆ เติบโตแตกกิ่งก้านสาขาอย่างสมดุล ถ้าต้นไม้โตเกินกว่าลำต้นหรือฐานรากจะรับไหว ก็จะโค่นล้มได้ง่าย เปรียบเหมือนคนที่เร่งโตเกินไป ถ้ามองในปรัชญาการทำงาน ทำธุรกิจเราก็ต้องสร้างรากฐานสะสมประสบการณ์ ให้แข็งแรงก่อนจะขยายธุรกิจ ไม่เช่นนั้นถ้าเราเร่งโตขยายจนเกินขีดความสามารถของเราก็จะเป็นภาระ ดังนั้นเราก็ต้องตัดกิ่งอ่อนแอออก สางใบให้โปร่งมีแสงผ่านได้ และจัดการส่วนที่เป็นปัญหาและอาจเป็นปัญหาทิ้งไปเรา จึงจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ยั่งยืนมีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคม”
จริยา กล่าวทิ้งท้ายว่า การมีต้นไม้ในบ้านก็เหมือนสร้างปอดธรรมชาติในพื้นที่อาศัยที่เราอยู่ทุกวัน เพราะปกติแล้วเราต้องออกไปเจอกับมลพิษภายนอกอยู่ตลอดเวลา ต้นไม้ในบ้านจึงเหมือนเครื่องมือที่ช่วยบำบัดมลพิษให้กับตัวคุณ เราอยากชวนทุกคนมาปลูกและรักษาต้นไม้ ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่คอนโด เพราะพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดของการปลูกต้นไม้ ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวที่คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน
Post Views: 933