เปิดฉากงานสัมมนาเรียลลิตี้ต่อเนื่อง 26 ชั่วโมง บนเวทีผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020” รวบรวมสุดยอดผู้นำระดับโลกกว่า 200 ท่าน ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ และมุมมองธุรกิจบนรากฐานของความยั่งยืนให้ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “Recover Better, Recover Stronger, Recover Together” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน จาก 193 ประเทศทั่วโลก
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผู้นำหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชียร่วมแสดงวิสัยทัศน์ระดับโลก ในหัวข้อ “การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” (Reflections on Change & Roadmaps to Recovery) ย้ำว่าการทำงานร่วมกันขององค์กรภาคเอกชน คือ กุญแจดอกสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน และการพัฒนาผู้นำที่มีจิตสำนึกด้านความยั่งยืน จะเป็นรากฐานสำคัญและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้ในที่สุด
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายท้องถิ่นของ United Nations Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำองค์กรสมาชิกในประเทศไทย ประกอบด้วยบริษัท องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เข้าร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านความยั่งยืนบนเวทีสัมมนาระดับโลก “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี UN Global Compact โดยเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมพูดคุยในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้โลกไปด้วยกัน ถ่ายทอดไปทั่วโลกจากนครนิวยอร์ก ผ่านระบบออนไลน์ต่อเนื่องตลอด 26 ชม. ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิ.ย. 2563 ซึ่งมีผู้สนใจด้านความยั่งยืนเข้าลงทะเบียนร่วมงานกว่า 15,000 คน ใน 193 ประเทศทั่วโลก ในพิธีเปิดการสัมมนาครั้งสำคัญนี้ ผู้นำการขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับโลกทั้งจากสหประชาชาติและภาคธุรกิจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ คุณอันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ คุณบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ คุณอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำในการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณพอล โพลแมน อดีตซีอีโอของยูนิลีเวอร์ และคุณลิเซ่ คิงโก้ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ UN Global Compact ที่ได้ดำเนินงานมายาวนานกว่า 20 ปี ที่จะฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิมภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อบรรลุผลสำเร็จ การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) 17 ข้อ ภายในปี 2573 หรืออีกเพียง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทํา” ด้วยการย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรธุรกิจในการบูรณาการทั้งหลักการสิบประการของ UN Global Compact และ SDGs มาปรับใช้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในรูปแบบประชารัฐ
ในช่วงพิธีเปิดนั้น เริ่มต้นด้วยการเสวนาในหัวข้อ “Reflections on Change & Roadmaps to Recovery” หรือ “การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นผู้แทนภาคธุรกิจไทยเพียงคนเดียวบนเวทีสัมมนาระดับโลกนี้ ร่วมพูดคุยกับ คุณคลาร่า อาภา อโซฟรา ซีอีโอแห่ง ARPA Equipos Móviles de Campaña จากสเปน คุณคาร์มานี เรดดี้ นักพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืนของบริษัท Distell จากแอฟริกาใต้ และคุณฟิลลิป เจนนิงส์ อดีตเลขาธิการ UNI Global Union โดยมีคุณเฟมิ โอคิ ผู้สื่อข่าวระดับนานาชาติ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงกว่าวิกฤติโควิด-19 หลายเท่า อย่างไรก็ดี วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนจะเป็นความท้าทายใหม่ของเราทุกคน “วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ปลุกให้ภาคธุรกิจตื่นตัวและเร่งเครื่องสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยต้องนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจและดำเนินงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะผู้นำองค์กร สิ่งที่ผมให้ความสำคัญในการบริหารงานในช่วงโควิดที่ผ่านมา คือ การดูแลพนักงาน โดยเน้นความมั่นคงในการทำงานด้วยการไม่ปลดพนักงาน การปรับทักษะในการทำงานและสร้างงานใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ อีคอมเมิร์ซ การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความโปร่งใสผ่านการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกที่มีอยู่ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาล ผู้นำในวันนี้ต้องนำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) และมีจิตสำนึก (Mindset) ด้านความยั่งยืน เป็นตัวอย่างที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญ คือ ควรเห็นความสำคัญของการร่วมมือ เพราะเราไม่สามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนเพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยการสร้างพันธมิตร ความร่วมมือแบบประชารัฐ (Public Private Partnership) จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้นำองค์กรจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ สินค้า บริการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขององค์กร โดยจะต้องลงมือทำอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม”
คุณศุภชัยยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของนวัตกรรมว่า “ความหมายที่แท้จริงของนวัตกรรม มิใช่เป็นเพียงเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมทางความคิด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะต้องมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ให้คุณค่ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งนี้ การลงทุนที่มีศักยภาพและคุ้มค่าที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การลงทุนด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงความคิดสร้างสรรค์ สามารถช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจได้อยู่ตลอดเวลา และจะต้องเข้าใจการสร้างคุณค่าให้สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยเป็นทางออกของปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความท้าทายทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด อาทิ โควิด-19 หรือในด้านการเกษตร รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาขยะ อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าและสังคมว่าธุรกิจของเรายังคงเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างประโยชน์สู่ลูกหลานของเรา”