ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความกินดีอยู่ดี และเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย เข้าถึงง่าย บริหารจัดการได้ง่าย และมีเป้าหมายการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้มีการจัดเวทีเสวนา “เทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมเพื่อพื้นที่และชุมชน” โดยมี รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อํานวยการ สกสว. รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ-ไทย (TDRI) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อํานวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมเสวนา และรศ. ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อํานวยการสํานักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (สกสว.) เป็นผู้ดําเนินรายการ
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวว่า พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2556 มีสาระสำคัญเพื่อแก้ปัญหาการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งแนวปฏิบัติในหลายประเทศ คือ หน่วยงานรัฐที่ให้ทุนจะเป็นเจ้าของผลงานหรือเป็นเจ้าของร่วมกันกับนักวิจัย ในขณะที่ผู้ให้ทุนอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการต่อยอดเชิงพานิชย์ สหรัฐอเมริกาจึงเป็นต้นแบบของการออกกฎหมายเพื่อปลดล็อกโดยให้ความเป็นเจ้าของงานวิจัยตกเป็นของผู้รับทุนซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจในการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากกว่า หลายประเทศจึงนำกฎหมายนี้ไปปรับใช้ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ทั้งนี้ฝ่ายนิติบัญญัติมีคำถามว่า “แล้วชาวบ้านได้อะไรจากกฎหมายฉบับนี้?” จึงมี 2 มาตราที่ระบุให้กองทุนส่งเสริม ววน. โดย กสว. ต้องจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และกำหนดหน่วยงานโดยสภานโยบายเพื่อทำหน้าที่นี้ นับเป็นมิติใหม่ของการออกกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาชุมชนพื้นที่ด้วยผลงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยในกฎหมายลูกระบุไว้ว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน การใช้งานเหมาะกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน และมีราคาพอสมควรที่เข้าถึงได้ นอกจากนี้ใน พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯ ยังมีกลไกสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยที่พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยกำหนดว่าถ้านักวิจัยสามารถพิสูจน์เป็นเจ้าของผลงานและผลงานถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยนักวิจัยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน นักวิจัยสามารถขอรับค่าตอบแทนได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้ตามกฎหมาย
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าการทำงานเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ชุมชน มีสิ่งสำคัญคือ การแก้ปัญหาจริงในชุมชน การรับฟังปัญหาและความต้องการจากเวทีชาวบ้านหรือเวทีชุมชน และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ยกตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการเกษตร เช่น การเพาะเลี้ยงปลากะพงทองหรืออังเกยของจังหวัดภูเก็ต การเพาะเห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ เห็ดระโงกนอกโรงเรือนในจังหวัดน่านและแพร่ การแปรรูปผลไม้สดด้วยเครื่องอบพลังงานแบบไฮบริดของเกษตรกรใน 14 จังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ยังต้องมองโจทย์ในระดับประเทศเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการข้าว ปาล์มน้ำมัน การประมง เพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน และได้มาตรฐานสากล การจัดการการเกษตรเพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและเตรียมพร้อมในการค้าคาร์บอน โดยส่วนกลไกการทำงาน สวก. เน้นการวิจัยของภาคเกษตรจึงมีเป้าหมายการพัฒนาในกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจ กลุ่มสหกรณ์ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีกลไกหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบท เช่น การทำ sandbox จัดการเรื่องโรคปากเท้าเปื่อยในสุกรในจังหวัดราชบุรี การจัดการปาล์มน้ำมันร่วมกับสมาคม สหกรณ์จังหวัดมีผลให้ได้ราคาสูงขึ้น และโมเดลการตัดสินใจการใช้น้ำในแปลงเพาะปลูก กลไกที่นอกจากชุมชนแล้ว การกระจายน้ำต้องทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน รวมถึง คณะกรรมการลุ่มน้ำทั้งห้าคณะที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเหมาะสมร่วมกันในการจัดสรรน้ำด้วย
ดร.วิภารัตน์ เสนอความเห็นว่าการทำงานเชิงพื้นที่ต้องไม่มองเฉพาะเรื่องของชุมชนท้องถิ่น แต่ควรมองพื้นที่เป็นหน่วยวิเคราะห์ (Unit of analysis) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาครอบคลุมในทุกมิติ โดย วช. ไม่เพียงแต่สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่แต่ยังมีกลไกการเติมเต็มกลไกที่จะทำให้เกิดวิธีการนำส่งองค์ความรู้งานวิจัยนวัตกรรมในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทจำเพาะของกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยมีกลไกการจับคู่ความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์และผลงานวิจัย การตั้งโจทย์ร่วมกัน การกำหนดพื้นที่ และการทำงานอย่างมีส่วนร่วม โดยมีตัวอย่างเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสและรายได้ การสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าและช้าง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างมีสุข โดยการนำเทคโนโลยี นำความรู้ในเรื่องการถ่ายทอดงานที่จะทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ที่เกิดปัญหา การใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย โดยการบริหารเชิงระบบร่วมกับหลายหน่วย โดยส่งมอบเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย เพื่อการดูแล แบ่งเบา และแก้ปัญหา เช่น นวัตกรรมการทำกายภาพที่ใช้งานไม่ยุ่งยาก เป็นต้น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุน ครอบคลุม 77 จังหวัด กว่า 600 อำเภอ และมากกว่า 1,300 ตำบล ในการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อสร้างโอกาสเศรษฐกิจชุมชนคุณภาพชีวิตและรายได้เพื่อเกิดความยั่งยืนในหลายมิติ
ด้าน ดร.กิตติ กล่าวว่า เป้าหมายของเทคโนโลยีที่เหมาะสม คือ การสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้ในชุมชน โดยจะต้องพิจารณาว่าแต่ละกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการไม่เหมือนกัน มีบริบทแตกต่างกัน ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์การเมืองแตกต่างกัน เมื่อมีการทำงานแบบ Demand driven แต่กลับแยกกลุ่มและความแตกต่างเหล่านี้ไม่ชัด จะทำให้โอกาสการขยายในเชิงนโยบาย หรือเชิงพื้นที่น้อย เพราะชุมชนมีพลวัต ดังนั้นจึงต้องมีการเติมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนรับ ปรับใช้ และทำให้เกิดความยั่งยืน หรือเอาไปเผยแพร่ต่อ หรือเติบโตเป็นการสร้างธุรกิจท้องถิ่นต่อได้ รวมทั้งไม่ควรวัดผลของเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพียงแค่ผลผลิตเท่านั้น แต่ควรวัดที่ผลการเรียนรู้หรือการยอมรับเทคโนโลยีและปรับใช้ในบริบทของตัวเอง รวมทั้งเอาไปปรับใช้ในบริบทของคนอื่นได้ ไปถ่ายทอดได้ เป็นนวัตกรเองได้ และกล่าวเน้นย้ำทิ้งท้ายว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมต้องเริ่มจากบริบท ต้องเริ่มจากเป้าหมาย ไม่ได้เริ่มจาเทคโนโลยี ที่สำคัญควรต้องคำนึงถึงสิทธิ์และความเป็นเจ้าของในภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย
นายวิเชียร กล่าวว่า จากประสบการณ์และมุมมองการทำงานเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่เหมาะสม และนำนวัตกรรมไปใช้ในพื้นที่และชุมชน พบว่าข้อเรียนรู้ที่สำคัญ คือ ต้องหาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน/พื้นที่ให้เจอ ต้องดูให้ชัดว่าขนาดความต้องการที่ลงไปมีปัญหาหรือจุดอ่อนคืออะไร จากนั้นจึงไปหาคลังของเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ แล้วนำไปจับคู่ให้ตรงกับความต้องการของชุมชน/พื้นที่ อย่างไรก็ตามหลายครั้งจำเป็นต้องมีการปรับเทคโนโลยีให้เหมาะกับบริบทและการใช้งานของคนในชุมชนด้วย นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการทำงานในพื้นที่ คือ การเข้าถึงชุมชน และการทำให้ชุมชนเข้าใจการใช้เทคโนโลยี ในทางกลับกันเมื่อหน่วยงานออกจากพื้นที่จะมีข้อกังวล ทักษะในการบริหารจัดการเทคโนโลยีให้ต่อเนื่องและยั่งยืนโดยชุมชนเอง NIA จึงได้ใช้โมเดลการทำงานกับเครือข่ายที่เรียกว่า SID คือ การให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าไปส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้ทำเรื่องนวัตกรรมในเชิงชุมชนมากขึ้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยก็ได้นำความรู้และผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชนพื้นที่ให้ยั่งยืน
ท้ายสุด รศ. ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน ในอดีตเทคโนโลยีประเภทนี้ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจน มีการจ้างงานในพื้นที่เยอะ ๆ แต่ไม่มีเงินทุน ประเด็นสำคัญของเทคโนโลยีที่เหมาะสม คือ ต้องรู้โจทย์ของพื้นที่และความต้องการของผู้ใช้ และต้องดูว่าศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของเกษตรกร ของชุมชน สามารถเข้ากับเทคโนโลยีที่ต้องการ และพร้อมรับการถ่ายทอดหรือไม่ สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในบริบทของระบบ ววน.จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบหลักในการทำคลังของเทคโนโลยี ซึ่งมองว่าต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง สกสว. กับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit : PMU) ส่วนกรณีที่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม อาจจะต้องสร้างกลไก/ระบบนิเวศ หรือมีแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อีกทั้งได้แนะว่า สกสว. กับ PMU ควรกำหนดโจทย์ให้ชัด วางเป้าหมาย และหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในโจทย์สำคัญ ๆ ก่อน แล้วมอบหมายให้แต่ละ PMU ไปดำเนินการ ไม่ควรให้ต่างคนต่างไปทำเพราะทรัพยากรและงบประมาณมีจำกัด