อีสท์ วอเตอร์ มุ่งมั่นและตอกย้ำความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างไม่หยุดยั้ง ย้ำชัดถึงความพร้อมสร้างความมั่นใจ ทั้งแหล่งน้ำหลัก แหล่งน้ำสำรอง ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด หรือ Water Grid ความยาวรวม 526 กิโลเมตร หากแม้มีการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2535 เรื่องแนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีผู้รับผิดชอบเพียงรายเดียว อีสท์ วอเตอร์ ยังมีโควต้าน้ำ และยังเป็นที่หนึ่งในภาคตะวันออก
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขอยกเลิกการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 เรื่องแนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำ ในส่วนที่กำหนดว่า “ระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และ การดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน และขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ” จากแนวทางดังกล่าว จะไม่ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำของอีสท์ วอเตอร์ แต่ประการใด เนื่องจากในแต่ละปีทางกรมชลประทานได้มีการจัดสรรน้ำจากปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานในแต่ละปีอยู่แล้ว และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ทางกรมชลประทานกำหนด ซึ่งแหล่งน้ำหลักในปัจจุบันของ อีสท์ วอเตอร์ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง และแหล่งน้ำเอกชน รวมถึงยังมีแหล่งน้ำสำรองที่มีใว้เพื่อเสริมความมั่นคงของแหล่งน้ำหลัก ได้แก่ สระสำรองน้ำสำนักบก สระสำรองน้ำฉะเชิงเทรา สระสำรองน้ำดิบทับมา รวมถึงมีการดำเนินการวางท่อส่งน้ำดิบหลักคลองหลวง-ชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ชลบุรีอีกด้วย นายเชิดชาย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีผู้ประกอบการเพิ่ม ก็ไม่ได้หวั่น เนื่องจากเป็นเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมสู้ และยังยึดมั่นคำเดิมคือเห็นความสำคัญของผู้ใช้น้ำเป็นหลัก รวมถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยในปี 2567 โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลักทดแทน ท่อส่งน้ำเดิม ทั้ง 3 โครงการ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันใกล้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จท่อส่งน้ำสายหลักจะเชื่อมโยงแหล่งน้ำหลักในภาคตะวันออก ความยาว 526 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะส่งผลให้อีสท์ วอเตอร์ ยังคงเป็นผู้นำในการบริการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกต่อไป โดยโครงก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลัก 3 โครงการ ประกอบไปด้วย
- โครงการท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – หนองค้อ – แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี สามารถรองรับการส่งน้ำได้350,000 ลบต่อวัน มากกว่าเดิม ทำให้ส่งน้ำไปให้พื้นที่ชลบุรี ได้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือในกรณีเกิดภัยแล้ง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยังยืน ความยาวกว่า 57.1 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำสายหลักประแสร์ – หนองปลาไหลเดิมของอีสท์ วอเตอร์
- โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แทน การผันน้ำผ่านคลองพานทอง ความยาวกว่า49 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อจากท่อส่งน้ำสายหลักปลวกแดง-บ่อวิน
- โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุต-สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำให้แก่ภาคอุปโภค บริโภค และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ความยาวกว่า27 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-มาบตาพุต เส้นที่ 2
ตลอด 31 ปีที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ มีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำมูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านบาท เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด ทำให้ อีสท์ วอเตอร์ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่อีอีซี ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในสภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้น้ำ อีสท์ วอเตอร์ เน้นการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความโปร่งใส บรรษัทภิบาล และความยั่งยืน รวมถึงการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างเต็มที่ เพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป