นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน นำทีม เข้าพบ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร  และได้กล่าวแสดงความยินดีกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย  และมีความเชื่อมั่นว่า ในฐานะที่นางสาวแพรทองธาร เป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถ มีความพร้อม และมีพลัง จะสามารถนําพาประเทศไทยให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์  ได้กล่าวถึง ประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนไทย-จีน ในขณะนี้ และมีข้อเสนอแนะด้านการค้าไทย-จีน ดังนี้

1) ประเด็นการขาดดุลการค้าของประเทศไทยกับประเทศจีน

  • การที่ไทยขาดดุลการค้าจีนมาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากโครงสร้างสินค้านําเข้าของไทยจากจีน เป็นสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสําเร็จรูป แต่โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ และสินค้าเกษตรกรรม จึงส่งผลการขาดดุลการค้ากับจีน
  • อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันหลายปี ซึ่งสินค้าเกษตรกรรม และสินค้าเกษตรแปรรูปของไทย ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวในตลาดจีนได้อีก  หากมีการเจาะตลาดรายมณฑลของจีน โดยเฉพาะมณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน ซึ่งมีกําลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น
  • นอกจากนี้ ควรมีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ กรอบความตกลงอาร์เซป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดจีน
  • อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่ง  รัฐบาลจีนเองก็ได้สนับสนุนให้ไทยขยายการส่งออกไปยังตลาดจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  โดยจีนได้เชิญไทยไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่จัดขึ้นในประเทศจีน เพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์และสินค้าไทยหลายงาน  เช่น   1) ในงาน CIIE ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นปีที่แล้ว  การทำสัญญาซื้อขายของผู้แสดงสินค้าชาวไทยมีมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2) งาน China – ASEAN EXPO ที่หนานหนิง  จีนได้จัดบูทให้ประเทศไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตลอด 20 ปี  และ 3) งานแคนตันแฟร์ ที่กว่างโจว  โดยในรอบ 67 ปีนับแต่เริ่มจัดงาน มีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงานและจัดซื้อสินค้า  เฉลี่ยมากกว่า 7,000 รายต่อปี

2 ) ประเด็นสินค้าจีนราคาถูกทุ่มตลาดไทย

  • หากเป็นสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานบังคับใช้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (ควรให้สินค้าที่มีมาตรฐานเท่านั้น)
  • หากเป็นการทุ่มตลาด ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้าเหล่านั้น

3) ประเด็นการจําหน่ายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce) ที่มีราคาถูก

  • ตัวอย่างเช่น ทีมู (Temu) ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง (หรือ บี ทู ซี :B2C) ทําให้สามารถขายสินค้าได้ราคาถูกลง
  • สําหรับประเด็นนี้ ประเทศไทย อาจพิจารณากฎระเบียบของประเทศจีนที่ใช้กํากับผู้บริโภคชาวจีนที่สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดน โดยจีน มีการกําหนดมูลค่าการสั่งซื้อแต่ละครั้ง ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อครั้งต่อคน และกําหนดมูลค่าการสั่งซื้อรวมทั้งปี ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อคน ที่ไม่ต้องเสียภาษีนําเข้า และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 70% ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจริง
  • อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น  หากรัฐบาลมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ก็จะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้สร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้น  ยกตัวอย่าง
  • เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566   ซิมบ้า หรือ ชื่อภาษาจีน คือ 辛巴(ซิน ปา)นักไลฟ์ขายของออนไลน์ชาวจีน ได้ไลฟ์ขายสินค้าในประเทศไทยให้กับผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งมียอดขายมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท
  • หอการค้าไทย-จีน มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี สามารถใช้ ประโยชน์จากช่องทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อนําสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะระดับมณฑลของจีน ได้สะดวก และเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้า ไทยอีกช่องทางหนึ่ง [ สําหรับประเด็นนี้ รัฐบาลอาจพัฒนาผู้ประกอบการไทยเป็นเจ้าของเครือข่ายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของตนเอง หรือ รัฐบาลอาจสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการไทยร่วมมือกับผู้ประกอบการจีน – หมายเหตุ: เป็นผลจากการสํารวจดัชนี ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2567]
  1. ด้านการลงทุน
  • ตามข้อมูลจาก BOI ในปี 2022-2023 มีวิสาหกิจจีนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน
    เกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2022 เพิ่มขึ้น 101%  และปี 2023 เพิ่มขึ้น 109%
  • วิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของจีน  ได้ช่วยไทยสร้างเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์เป็น

ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทย 84%

  • นอกจากนี้ ยังมีวิสาหกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนกว่า 7 แห่งได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีมูลค่าการลงทุนเกิน 90,000 ล้านบาท
  • การลงทุนของวิสาหกิจจีนในประเทศไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทย  ยกตัวอย่างเช่น
  • ตามที่กฎหมายไทยได้กำหนดว่า วิสาหกิจจีนที่ลงทุนในไทย จะต้องจ้างพนักงานที่เป็นคนไทย 4 คนก่อน จึงจะสามารถจ้างคนจีน 1 คนได้ และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่วิสาหกิจจีนผลิตในไทย จะต้องนำมาเพิ่มมูลค่าในประเทศไทยมากกว่า 40 % ก่อนจึงจะได้รับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า     ดังนั้น  หากจะกล่าวว่าวิสาหกิจจีนมาลงทุนในไทยแล้วใช้แต่วัตถุดิบมาจากจีน  ใช้แรงงานจากจีน ก็ไม่เป็นความจริงเสียทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น เขตอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมโรงงานการผลิตมีมูลค่าการผลิตรวมมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้า 80% เป็นการส่งออก จึงช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยมากกว่า 3000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี2566   อีกทั้งช่วยให้มีการจ้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 55,000 คน
  1. การปิดกิจการของธุรกิจไทย
  • เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการแสดงความคิดเห็นกันมากมายเกี่ยวกับการปิดตัวของธุรกิจไทย หลายคนคิดว่าสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์และการลงทุนของจีน
  • อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้   มีโรงงาน 488 แห่งปิดตัวลง  แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการก่อตั้งโรงงานใหม่ 848 แห่ง   ซึ่งการลงทุนในโรงงานที่ปิดตัวไปคิดเป็นจำนวน 14 พันล้านบาท ในขณะที่ การลงทุนในโรงงานที่จัดตั้งใหม่คิดเป็น  8 พันล้านบาท
  • ในด้านของการจ้างงาน การปิดโรงงานส่งผลให้มีการว่างงาน 12,551 ตำแหน่ง ในขณะที่โรงงานที่จัดตั้งใหม่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 33,787 ตำแหน่ง
  • สำหรับประเด็นนี้ รัฐบาลควรให้ความสนใจและพยายามแก้ไขปัญหาแรงกดดันทางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญภายใต้กลไกการตลาด  รัฐบาลต้องกำกับดูแลเพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเข้มงวด
  1. ด้านการดำเนินธุรกิจที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นการประกอบธุรกิจของชาวจีนในประเทศไทยโดยใช้นอมินี

  • สําหรับประเด็นนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใสและเป็นธรรม
  • หอการค้าไทย-จีน ก็พยายามให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้ประกอบการชาวจีนที่จะเข้ามาทําธุรกิจในประเทศไทย ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
  • ในส่วนของรัฐบาลจีน ก็ได้มีนโยบายให้วิสาหกิจและพลเมืองของตนปฏิบัติตา,

กฎหมายของประเทศที่ไปลงทุนหรือทำธุรกิจอย่างเคร่งครัด  ซึ่งจีนให้การสนับสนุนฝ่ายไทยในการสืบสวนและจัดการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

สุดท้ายนี้ หอการค้าไทย-จีน เป็นที่รวมของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน นักธุรกิจชาวจีน และ ชาวจีนโพ้นทะเล ก่อตั้งมาเป็นเวลา 114 ปี และยังคงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ในทุกมิติ ยินดีให้การสนับสนุนรัฐบาล เพื่อดําเนินนโยบายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ให้สําเร็จลุล่วง เพื่อความผาสุกของประเทศชาติโดยรวม  นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว