หอการค้าไทยฯ จับมือภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เปิดเวทีระดมสมอง ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย พร้อมไขข้อข้องใจในทุกประเด็นกับทิศทาง ประเทศไทยหลังคลายล็อกดาวน์ เฟส 3 คาดสร้างเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท แนะธุรกิจปรับตัวสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค จนเกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของธุรกิจไทยที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐต้องมีแผนเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน รวมถึงใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดวันนี้ (12 มิถุนายน 2563) ณ ห้อง Activity Hall สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ภาคเอกชน นำโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้เดินหน้าโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย พร้อมจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 รับมือมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 3” ระดมวิทยากรระดับประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมไขข้อข้องใจในทุกประเด็นกับทิศทางประเทศไทยหลังคลายล็อคดาวน์ ระยะที่ 3 เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯ ได้มีส่วนร่วมกับ ศบค. ในการสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 และได้มีข้อเสนอของภาคเอกชนในหลายประเด็นตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ มาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ และมาตรการสำหรับ การเปลี่ยนผ่านเบื้องต้นในการปรับพฤติกรรมของประชาชน การเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ทุกสถานประกอบการต้องปฏิบัติและคู่มือสำหรับสถานประกอบการ มาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ และผู้ประกอบการ การส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การจัดทำระบบเพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน และการศึกษาแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
สำหรับมาตรการผ่อนปรน (คลายล็อกดาวน์) ระยะที่ 3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหอการค้าไทยฯ ประเมินว่าหลังคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 3 สำหรับกิจการและกิจกรรมในกลุ่มสีเหลืองซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับปานกลางถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท และตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ในกลุ่มสีขาวหรือความเสี่ยงต่ำ และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 และ ระยะที่ 2 ในกลุ่มสีเขียวหรือความเสี่ยงปานกลาง วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท และจากการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 (ณ เดือนพฤษภาคม 2563) ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า GDP ของประเทศไทยจะติดลบ 3-5% ซึ่งเป็นระดับดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าจะติดลบ 6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีมาตรการเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นายกลินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (12 มิ.ย.) ทาง ศบค. จะมีการประกาศมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 4 ให้กิจการและกิจกรรมอีกหลายประเภทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ประชาชน และเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งต้องดูเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ รวมถึงกำหนดกระบวนการที่ชัดเจนในการจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติ ทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไทยว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 (Second Wave) จากการให้คนต่างชาติเข้าประเทศ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะมีออกมา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลในเรื่องของผู้ว่างงาน และแผนการพัฒนาประเทศ รวมถึง การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจาก พ.ร.ก. กู้เงิน ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
“งานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ได้เข้าใจถึงความสำคัญที่จะต้องมีการปรับตัว ยกระดับมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ทั้งเจ้าของธุรกิจและลูกค้า เพราะที่ผ่านมาการเปิดเมืองหรือการผ่อนคลายต่างๆ ได้มีการทยอยปรับให้เหมาะสมตามลักษณะของสถานประกอบการและลูกค้า โดยปัจจุบันจะเห็นบรรยากาศ การปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์บริการต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นต้น” นายกลินท์ กล่าว
ด้าน นางสาวเสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ “Work from Home: “Work อย่างไรให้ได้ทั้งงานและเงิน” ว่า การทำงานที่บ้าน (Work from Home) เป็นหนึ่งในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรค ซึ่ง TDRI ได้ทำการศึกษาผลกระทบของการทำงานที่บ้านของพนักงาน TDRI พบว่า การทำงานที่บ้านมีผลดีทั้งต่อองค์กรและพนักงาน ทั้งด้านค่าใช้จ่ายโดยตรงที่ลดลง เวลาที่ประหยัดได้จากการเดินทางที่ลดลง และผลิตภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น โดยประโยชน์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดตกอยู่กับพนักงานในรูปของเวลาในการเดินทางที่ประหยัดได้ซึ่งทำให้พนักงานมีเวลาทำกิจกรรมตามที่ต้องการเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การศึกษาพบว่าจากพนักงานทั้งหมด 136 คน โดยมี 92 คนเป็นนักวิจัย พนักงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81) สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายวิจัยซึ่งทำงานที่บ้านเกือบร้อยละ 99 โดยมีจำนวนวันทำงานที่บ้านเฉลี่ย 3.9 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่พนักงานฝ่ายสนับสนุนทำงานที่บ้านร้อยละ 45 โดยมีจำนวนวันทำงานที่บ้านเฉลี่ย 2.3 วันต่อสัปดาห์ และมีพนักงานสนับสนุนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ร้อยละ 55 เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่สำนักงาน ต้องพบปะหรือติดต่อกับผู้คน เป็นต้น ซึ่งเมื่อคำนวณประโยชน์ในเชิงปริมาณ จะพบว่า TDRI และพนักงานได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้านรวมกันคิดเป็นมูลค่าในรูปตัวเงินประมาณ 4.2 แสนบาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88) เป็นค่าใช้จ่ายทางตรงของพนักงานที่ลดลง และมีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 12) ที่ตกอยู่กับองค์กรโดยตรงในรูปตัวเงิน นอกจากนี้พนักงานยังได้รับประโยชน์ในรูปของเวลาที่ประหยัดได้จากการเดินทางซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำกิจกรรมที่ต้องการ คิดเป็นค่าเสียโอกาสรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อเดือนดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Work from Home อย่างไรให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ก่อให้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นก็คือ “การทำงานที่บ้าน” (Work From Home) ที่ได้กลายเป็นปรากฏการณ์รูปแบบใหม่ของการทำงาน และอาจเป็น New Normal ของหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของการยกระดับองค์กรสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด – 19 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติยังศึกษาข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเริ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ ภายใต้แนวคิด “การสร้างองค์กรนวัตกรรมภาครัฐ” เพื่อรองรับการทำงานและอำนวยความสะดวกให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาระบบงานให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานรูปแบบใหม่
“หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย อาจจะเห็นการทำงานที่บ้านของหลายบริษัทรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่จะขยายโอกาสให้บุคลากรได้ทำงานจากนอกสำนักงานมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งยังจะได้เห็นสตาร์ทอัพและนักพัฒนาเทคโนโลยีนำเสนอแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อใช้อำนวยความสะดวกกับการทำงานเพิ่มขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างโอกาสการพัฒนาองค์กรเข้าสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าหรือบริการที่มีความเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะเป็นองค์กรที่สามารถหาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน” ดร. พันธุ์อาจ กล่าว