พล.ต.ท.ดิเรก ธนานนท์นิวาส ที่ปรึกษา (สบ๘) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นประธานเปิดการสัมมนา หัวข้อ DNA – หัวใจของกระบวนการยุติธรรม ซึงมีผู้เข้าร่วมทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ด้านนโยบายฐานข้อมูลนิติเวช กฎหมาย และการพัฒนาโครงการเข้าร่วมด้วยเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของ DNA ในการควบคุมอาชญากรรม ภายในงานมีการฝึกอบรมผู้ตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขคดีที่ซับซ้อน วิธีการแบ่งปันข้อมูล และการขยายฐานข้อมูล DNA เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นการจัดสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมแจ้งยอดสุข ชั้น ๓ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร และสวัสดิการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านระบบออนไลน์ไปทั่วประเทศพร้อมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจพิสูจน์ทางนิติพันธุศาสตร์ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเข้าร่วม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และจากต่างประเทศเข้าร่วม
ด้าน พล.ต.ท.ดิเรกฯ กล่าวว่าสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีภารกิจในการสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้วิทยาการสมัยใหม่และหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาค้นหาความจริงคลี่คลายคดีต่าง ๆ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ฐานข้อมูล DNA ทางอาญา จึงเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.หญิง สุเจตนา โสตถิพันธุ์ ผู้บังคับการ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีฐานข้อมูลบุคคลถึง 432,000 โปรไฟล์ พร้อมย้ำ“ความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จาก DNA เพื่อไขคดีอาญาจะมากขึ้นได้ด้วยการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่มากขึ้นเท่านั้น”
นอกจากนี้ ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ขยายฐานข้อมูล DNA ของผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องไปถึง 230,000 โปรไฟล์ คาดว่าจะครอบคลุมจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดของประเทศภายในไม่ช้า ที่สำคัญได้ร่าง พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศ ซึ่งจะช่วยควบคุมและจัดการฐานข้อมูลดีเอ็นเอได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทางด้าน มร. ทิม เชลเบิร์ก ประธานบริษัท GTH ได้บรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและเรื่องราวความสำเร็จของการใช้ DNA จากทั่วโลก สหราชอาณาจักร (ซึ่งมีขนาดประชากรเกือบเท่ากันกับประเทศไทย) มีโปรไฟล์ 6 ล้านโปรไฟล์ในฐานข้อมูล DNA โดยมีอัตราการตรวจตรงกัน 66% ซึ่งหมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการนำเข้า DNA จากที่เกิดเหตุ จะสามารถระบุตัวบุคคลได้มากกว่า 6 ใน 10 ครั้ง
ส่วนวิทยากรรับเชิญพิเศษคือ ดร. บรูซ บุโดวล์ อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติพันธุศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษที่ University of Helsinki ได้อธิบายถึงความสำคัญจากการ รวมฐานข้อมูล DNA ของผู้ต้องขังและผู้ถูกจับกุม เพราะนั่นคือจุดที่สามารถหยุดยั้งและยับยั้งอาชญากรที่มักจะกระทำผิดซ้ำได้ จากนั้น ดร. บรูซ เป็นผู้อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อ “สร้างขีดความสามารถด้านนิติพันธุศาสตร์ขั้นสูงในประเทศไทย – การวิเคราะห์ DNA mixtures” เพื่อช่วยให้ผู้ตรวจพิสูจน์ DNA สามารถวิเคราะห์คดีที่ซับซ้อนจากตัวอย่างดีเอ็นเอที่มาจากหลายแหล่ง
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลจาก GTH-DNA ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันปิดคดีสำคัญด้วยการใช้ฐานข้อมูลดีเอ็นเอ ซึ่ง “รางวัลสำหรับยอดนักสืบสวน” มีจุดประสงค์เพื่อให้กำลังใจและเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ด้านนิติเวชและการบังคับใช้กฎหมาย มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากฐานข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม