สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวแคมเปญ “AIR YOU CAN EAT เปิดพื้นที่สร้างประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ ตระหนัก และนำไปบอกต่อ” นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูล ThaiHealth Watch 2022 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 พบฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20-28 เท่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั่วประเทศมานานกว่า 10 ปี ในแต่ละภูมิภาคมีสาเหตุของการเกิดที่แตกต่างกัน ทั้งจากไฟป่า หมอกควันข้ามแดน การเผาเพื่อการเกษตร การจราจร การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม สสส. โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ร่วมบูรณาการกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้สังคมตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย สร้างประสบการณ์ร่วมในรูปแบบสื่อออนไลน์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ณ ร้านวรรณยุค ถนนพญาไท กรุงเทพฯ
“แคมเปญ AIR YOU CAN EAT มุ่งเน้นการทำให้ฝุ่นเล็กๆ เป็นเรื่องที่มองเห็นและจับต้องได้ ผ่านการตีความองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ผ่านเมนูอาหาร 4 เมนู จากเชฟผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมที่ดึงเมนูอาหารมาทำให้เป็นสื่อการเรียนรู้สะท้อนปัญหาที่เข้าใจง่าย ชวนร่วมคิด วิเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดภาพจำ อารมณ์ ความรู้สึกร่วม ที่นำไปสู่การตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 บนแอปพลิเคชัน Airvisible https://airvisible.thaihealth.or.th/” มุ่งเป้าขยายผลนวัตกรรมเครื่องมือการเรียนรู้พิชิตฝุ่น มุ่งสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาทางออกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน เพื่อคืนอากาศสะอาดกลับคืนสู่ปอดคนไทยให้เร็วที่สุด” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายชาลี กาเดอร์ เชฟผู้เชี่ยวชาญในวัฒนธรรมอาหารไทยอีสาน ผู้สร้างสรรค์เมนูในแคมเปญ AIR YOU CAN EAT สสส. กล่าวว่า เมนูอาหาร 4 เมนูเลือกใช้วัตถุดิบและกระบวนการปรุง ที่บอกเล่าเรื่องราวของปัญหาที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1. เมนูฝุ่นตลบ วัตถุดิบอาหารที่มีกลิ่นฉุนจากทุกภูมิภาค อาทิ งาขี้ม่อน ผงแกงไตปลา ปลาร้า ให้ความรู้สึกถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ และรสสัมผัส 2. เมนูปลาลุยควัน สะท้อนถึงสาเหตุสำคัญของการเกิด PM 2.5 จากการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ 3. เมนูห้าคำ ห้าระดับ ประกอบด้วย พายกรอบ มูสตับบด มัลเบอรี ชีสมัลเชโก้ และเทอร์รีนหมูบด ให้ความรู้สึกถึงการบดเคี้ยวที่ง่ายไปถึงยาก สะท้อนค่าเฝ้าระวังผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพ ตั้งแต่ดีมากไปถึงอันตรายต่อสุขภาพ และ 4. เมนูสโมคสวีท เมอแรงกาบมะพร้าวรมควันที่หักอยู่เต็มจาน เปรียบเสมือนขยะแผ่นโฟมหรือเศษพลาสติกสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และเว็บไซต์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/ #สสส #ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ #เราต้องหายใจอากาศสะอาด #ThaihealthWatch2022 #จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย2565 #ฝุ่นพิษ #AirYouCanEat