สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำ “นวัตกรรม MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส แบบ 2 in 1” ส่งมอบพร้อมติดตั้งภายในอาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานี โดยมี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. พร้อมด้วยนางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมกันมอบฯ และมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้รับมอบฯ ณ อาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า จากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 โดย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 วช. ได้มุ่งเน้นผลงานเชิงสุขภาพให้มีความหลากหลายตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยผลงานนวัตกรรม “MagikTuch” ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส แบบ 2 in 1 ถือเป็นหนึ่งในผลงาน ที่ วช. ให้การสนับสนุนนักวิจัย สวทช. เพื่อขยายผลสู่การใช้งานจริงเพื่อบรรเทาวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ด้วยการแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นลิฟต์แบบไร้สัมผัส เนื่องจากลิฟต์ในที่สาธารณะมีประชาชนใช้งานจำนวนมาก ดังนั้นการมีนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรคระบาดเกิดขึ้นจำนวนมาก และหลายโรคสามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีสารคัดหลั่งหรือเชื้อโรคจากผู้ป่วยติดค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของต่างๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกัน เช่น ที่จับประตู ราวบันไดเลื่อน ก๊อกน้ำ รวมถึงปุ่มกดลิฟต์โดยสารซึ่งเป็นระบบขนส่งที่มีผู้คนใช้ร่วมกันจำนวนมาก ทีมวิจัยจึงพัฒนานวัตกรรมเมจิกทัช (MagikTuch) เพื่อเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคความเสี่ยงจากการสัมผัสกับปุ่มกดลิฟต์ที่อาจมีสารคัดหลั่งหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยติดค้างอยู่ สามารถช่วยลดการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ได้
นวัตกรรม “MagikTuch” มีจุดเด่น 3 ข้อ คือ 1. Touchless เป็นระบบการทำงานแบบไร้สัมผัส สั่งการด้วยเซนเซอร์ วิธีใช้งานง่ายคือใช้นิ้วมือวางเหนือปุ่มลิฟต์ของชั้นที่ต้องการระยะห่าง 1-3 เซนติเมตร เซนเซอร์จะตรวจจับข้อมูลชั้นที่ต้องการเลือกและสั่งการลิฟต์โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งมีระบบการตรวจจับเพื่อป้องกันการสั่งการพร้อมกันหลายปุ่ม ขณะเดียวกันหากระบบเกิดการขัดข้อง หรือผู้ใช้งานไม่สะดวกใช้งานแบบไร้สัมผัส สามารถใช้วิธีกดปุ่มลิฟต์แบบเดิม เนื่องจากระบบออกแบบให้ทำงานได้ 2 แบบ คือ แบบไร้สัมผัสและการกดปุ่ม 2. Safe from Infection ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรค เพราะเมื่อไม่มีการสัมผัสจะลดการแพร่กระจายเชื้อโรคในลิฟต์ และ 3. Easy Installation คือติดตั้งได้ง่ายและมีความยืดหยุ่น โดยชุดอุปกรณ์ MagikTuch สามารถติดตั้งเข้าไปบนลิฟต์ตัวเดิม โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือเชื่อมต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของตัวลิฟต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะ
การรับประกันระบบของบริษัทผู้ติดตั้งและผู้ดูแลลิฟต์ อีกทั้งยังออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับจำนวนชั้นได้ตามที่ต้องการสำหรับลิฟต์โดยสารหลากหลายยี่ห้อ อีกทั้งมีระบบป้องกันทางไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และผ่านการทดสอบมาตรฐานด้าน EMC/EMI”
ดร.ศิวรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สวทช. ได้ดำเนินการติดตั้งใช้งานระบบ MagikTuch ตามสถานที่ต่างๆ แล้วกว่า 10 จุดติดตั้ง เช่น ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ และจากการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก วช. ทำให้เกิดการขยายผลและอยู่ระหว่างการติดตั้ง MagikTuch ให้มีการนำไปใช้งานเพิ่มเติมในสถานที่ที่มีคนไปใช้งานจำนวนมากอีกกว่า 10 แห่ง อาทิ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศได้พอสมควรปัจจุบันทีมวิจัยได้ขยายผลการพัฒนานวัตกรรม MagikTuch สำหรับแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นระบบลิฟต์แบบไร้สัมผัสเพื่อบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการใช้ลิฟต์ในที่สาธารณะที่มีประชาชนมาใช้จำนวนมาก