“หัวใจ” อวัยวะขนาดเล็กเท่ากำปั้น แต่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ และเนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงอาจไม่ทราบในทันที ทำให้โรคหัวใจเป็นโรคยอดฮิตอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จากสถิติกระทรวงสาธารณสุข (16 กันยายน 2561) พบว่ามีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คน ต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 2 คน เนื่องในวันหัวใจโลก รศ. นพ. สุพจน์ ศรีมหาโชตะ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความรู้และตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพื่อให้คุณได้เข้าใจและสามารถดูแลหัวใจดวงน้อยนี้ให้ได้ดียิ่งขึ้น

ทำไมเป็นโรคหัวใจกันเยอะ?

ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นับได้ว่าเป็นโรคหัวใจที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด โดยเกิดจากผนังของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary) เสื่อมสภาพส่งผลทำให้ไขมันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ก่อตัวหนาขึ้นและทำให้เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือดหัวใจ เป็นเหตุให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบและตันส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในหัวใจมีประสิทธิภาพลดลงและสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้เกิด ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ ได้ในที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยด้านอายุ เพศ ที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ปัจจัยทางพันธุกรรม อย่างการมีพันธุกรรมผิดปกติ การมีฮอร์โมนทางเพศไม่สมดุล หรือพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดไขมันมากผิดปกติ เป็นต้น และปัจจัยด้านพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพ ที่มีความเสี่ยง และส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพอย่าง การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยเช่นกัน

ลดเสี่ยงโรคเบาหวาน-ความดัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เท่ากับลดเสี่ยงโรคหัวใจ

สิ่งที่สำคัญในการลดอัตราการเกิดโรคหัวใจคือการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยง ดูแลรักษาสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอื่น ๆ อย่าง โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคอ้วน ฯลฯ ที่มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องและส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพได้ “นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายให้พอเหมาะไม่หนักเกินไปอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพและการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารและทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูงจนเกินไป จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและวางแผนการป้องกัน” รศ. นพ. สุพจน์ กล่าว

เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ภาวะรุนแรงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิต อย่าง ‘ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด’ และ ‘ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน’ ซึ่งเป็นผลมาจากไขมันที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดเกิดการแตกตัวออกและเกิดลิ่มเลือดอุดตันแบบเฉียบพลัน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดข้อบ่งชี้ที่แสดงอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในขณะออกกำลังกาย มีอาการเหนื่อยผิดปกติ หรืออาจจะมีอาการเป็นลมล้มหมดสติ ซึ่งจะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูอาการและรักษาโดยด่วนเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเฉียบพลันและเสียชีวิตนั่นเอง