อุบัติเหตุนำมาซึ่งการบาดเจ็บ การสูญเสีย หรือความพิการ เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า จํานวนครั้งอุบัติเหตุสะสม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 – 3 มกราคม 2561 มีทั้งหมด 3,841 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต จํานวน 423 ราย ซึ่งลดลงกว่าปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 11.51
จากการศึกษาระยะเวลา และสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้บาดเจ็บพบว่า ร้อยละ 50 ของผู้บาดเจ็บจะเสียชีวิตภายในชั่วโมงแรก ซึ่งการป้องกันอุบัติเหตุ การดูแล ณ ที่เกิดเหตุ การออกแบบพาหนะที่ปลอดภัย ตลอดจนการนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการเสียชีวิต ในขณะที่ผู้บาดเจ็บอีกร้อยละ 30 จะเสียชีวิตภายใน 24 ชม.แรก และอีกร้อยละ 20 จะเสียชีวิตในหลายวันต่อมา ผู้บาดเจ็บบางรายที่มีการบาดเจ็บที่รุนแรงอาจต้องได้รับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูง เพื่อการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งความรวดเร็ว และประสิทธิภาพในการส่งต่อนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการเสียชีวิต และทุพพลภาพของผู้บาดเจ็บ
นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในการประสานงานส่งต่อ และเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ จึงได้นำมาตรฐาน CAMTS (Commission on Accreditation of Medical Transport Systems) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานของบุคลากร รถพยาบาล และอากาศยานพยาบาล ตลอดจนมาตรฐานการส่งต่อ และดูแลรักษาผู้ป่วยระหว่างเคลื่อนย้าย โดยได้รับการรับรอง มาตรฐานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบกและทางอากาศ จากสหรัฐอเมริกา CAMTS เป็นครั้งแรกในปี 2015 และมาตรฐาน CAMTS Global ในปี 2018**
“ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และสาธารณะ” ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดในการเคลื่อนย้ายส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล นับตั้งแต่การรับข้อมูล จนกระทั่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังโรงพยาบาล BDMS Medevac Center ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส มีทีมรับแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์อำนวยการการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการประสานงานการเคลื่อนย้ายทั้งทางบกและทางอากาศ จะเป็นผู้รับเรื่อง และประสานข้อมูลของผู้บาดเจ็บ วางแผนการดูแลรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง และโรงพยาบาลต้นทาง
เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ตั้งแต่ก่อนเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาล (Prehospital care) ซึ่งเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และระหว่างนำส่งโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย เพื่อมารับการรักษาต่อเนื่องเมื่อมาถึงโรงพยาบาลปลายทางตลอดจนการประเมินความเสี่ยงในการเดินทาง สภาพการจราจร สภาพเส้นทาง สภาพอากาศ ความพร้อมของบุคลากร และพาหนะ เพื่อเลือกวิธีเคลื่อนย้ายที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้าย ทางบก หรือทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ซึ่งสภาพการจราจร และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการเดินทางจะมีผลอย่างมากต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
พญ.สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินกรุงเทพ (คนแรก ขวามือ)กล่าวว่า มาตรฐานในการเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาล พนักงานขับรถพยาบาลทุกคนซึ่งได้รับการอบรมเป็น พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ หรือ EMT-B เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ร่วมกับทีมแพทย์ และพยาบาล นั้นจะต้องได้รับการอบรมการขับขี่พาหนะฉุกเฉินอย่างปลอดภัย (Emergency Vehicle Operation Course) รวมทั้งตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และประเมินความอ่อนล้า ก่อนปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรจะสามารถควบคุมรถพยาบาลได้อย่างปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วย บุคลากร และผู้ใช้ถนน รถพยาบาลได้ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัย โดยที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสามารถทำการประเมิน และรักษาผู้ป่วยได้ตลอดเวลาที่รถพยาบาลวิ่ง โดยไม่ต้องปลดเข็มขัดนิรภัย ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการรัดตรึงด้วยเข็มขัดนิรภัย ตามมาตรฐาน อุปกรณ์การแพทย์ จะต้องยึดตรึงอย่างแข็งแรงด้วยอุปกรณ์ที่ได้รับการทดสอบการชนตามมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ผู้ป่วย และบุคลากร จะต้องปลอดภัยบนรถพยาบาล จุดเด่นของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
โดย ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส(BDMS Medevac Center) คือ จะมีทีมแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และพยาบาลด้านการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ได้รับการฝึกอบรม สามารถตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูง เสมือนยกห้อง ICU เคลื่อนที่ไปรับส่งผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีทุกวินาทีฉุกเฉิน ด้วยมาตรฐานการเคลื่อนย้ายที่ผ่านการรับรองในระดับสากล
นพ.อัญฤทธิ์ แสงจรัสวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพ กล่าวว่า หากมีผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือในช่วงเทศกาลที่มีการจราจรหนาแน่น ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส (BDMS Medevac Center) มีบริการเฮลิคอปเตอร์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน (Sky ICU) ให้บริการรับ-ส่ง คนไข้ฉุกเฉินเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่แรกรับ ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ตามมาตรฐานนิรภัยการบินขององค์กรการบินระหว่างประเทศ ปฏิบัติงานบนเครื่องด้วยทีมแพทย์ พยาบาลที่มีวุฒิบัตรและความชำนาญ ประสบการณ์จริงด้านเวชศาสตร์การบิน และได้รับการฝึกจนชำนาญการปฏิบัติการบินทางการแพทย์ฉุกเฉิน
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที รวดเร็ว และปลอดภัย จุดเด่นของเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศคือ การเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล พื้นที่จำกัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่แรกรับ นอกจาก SKY ICU บริการเฮลิคอปเตอร์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน ทางรพ. ยังมีบริการรับส่ง-การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยานอื่นๆ อาทิ เครื่องบินไพรเวท หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเดินทางภายในประเทศและต่างประเทศ
ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลกรุงเทพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปีใหม่นี้จะเป็นปีที่จำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตทางถนนของประเทศไทยจะลดน้อยลง ขอให้ทุกท่านเตรียมความพร้อมของตนเอง พาหนะ และวางแผนเส้นทางการขับขี่อย่างปลอดภัย มีน้ำใจให้กันและกัน เพื่อให้คนไทยทุกคนจะฉลองปีใหม่ร่วมกันอย่างมีความสุข