งาน International Conference on Fake News ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดขึ้นเมื่อ 17 มิ.ย. 62
การแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นช่วงบ่ายในหัวข้อ “นโยบายสาธารณะเพื่อกำกับดูแลข่าวลวงข่าวปลอมในยุคดิจิทัล” (Public Policy in Handling Mis /Disinformation in Digital Era) มีผู้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นที่สอดคล้องกันว่า การสร้างพลเมืองที่ “ตื่นรู้” และ “เท่าทัน” ข้อมูลข่าวสาร มีความสำคัญและจำเป็น โดยรัฐบาลต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดการเท่าทันดังกล่าว รัฐต้องทำให้ประชาชนเกิดความ “ไว้วางใจ”และเชื่อมั่น อีกทั้งมีข้อเสนอให้เกิด “องค์กรอิสระ” ที่โปร่งใส เชื่อถือได้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวลวง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอันอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังหรือใช้ความรุนแรง เป็นการทำงานบนฐานของ “การมีส่วนร่วม”จากทุกฝ่ายในสังคม
Audrey Tang รัฐมนตรีว่าการกระทรวง digital จากไต้หวัน กล่าวว่า การรับมือกับโลกของความขัดแย้งและข่าวลวง นั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการคัดกรองและประมวล ผล โดยทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดกว้างเพื่อจะ”รับฟัง” ความเห็นจากประชาชนและสร้างความ “ไว้วางใจ” ให้เกิดขึ้นให้ได้
“ สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่มีข้อมูลข่าวสาร แต่ปัญหาหนึ่งคือ ข่าวสารมากจนเกินไป แต่ในหลายๆครั้ง การไม่เชื่อใครเลยอาจดีกว่าการเชื่ออย่างงมงาย มืดบอด (Blind trust is worst than no trust) สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นคือให้คนสามารถสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ การให้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข่าวนั้นต้องก็ทำอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ”
รมต.ดิจิทัลไต้หวันกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการจัดการข่าวลวงที่ได้ผลนั้น รัฐบาลต้องเปิดกว้าง สนับสนุนและสร้างพื้นที่/ช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้องด้วย
ด้าน Mario Brandenburg German Bundestog (Parliament) ตัวแทนรัฐสภาจากเยอรมนี กล่าวว่ารัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้พลเมืองได้รับ “ข้อเท็จจริง” เพราะข่าวลวงเป็นปัญหาที่เกิดในสังคมซึ่งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสำคัญคือการตรวจสอบข้อมูลพยายามแสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมของ “การฟัง” คนอื่นให้มากขึ้นด้วย
“ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องออกกฎหรือระเบียบที่เข้มงวดกวดขันแต่ต้องให้เครื่องมือที่จำเป็นกับประชาชนเพื่อใช้สร้างความรู้เท่าทันสื่อ ต้องสร้างประชาธิปไตยในยุคดิจิทัลที่ยืดหยุ่น แต่สิ่งที่รัฐต้องทำคือตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว”
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯพบว่าขณะนี้ปัญหาจากข่าวลวงมีมากในกลุ่มของยาและสุขภาพ การหลอกลวงและโกงเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นต้องมีหน่วยตรวจสอบความจริงที่ “เชื่อถือได้” เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องโดยมีภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมด้วย เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเด็นที่กระทบต่อสังคม ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนตอนนี้ พลังเลยยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องออกจากประเด็นของตัวเองแล้วมาทำงานร่วมกัน
“แม้อยากจะเท่าทันข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาแหล่งข้อมูลมาตรวจสอบข้อเท็จจริงความถูกต้อง เพราะอาจมีประเด็นที่ข้อมูลแย้งกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อถือได้ทั้งคู่ ดังนั้นการจัดการ “ข้อมูล”ที่เป็นความจริง ให้ผู้บริโภครับรู้ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ซึ่งก็รวมถึงประเด็นทางการเมืองด้วย”
คุณสารียังตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของสื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นที่พึ่งของสังคม แต่ปัจจุบันกำลังมีปัญหา บางส่วนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนไปแล้วจึงทำให้ไม่นำเสนอประเด็นที่อาจกระทบผลประโยชน์ต่อองค์กร หรือการไปเอาเนื้อหาจากคนทั่วไปทางออนไลน์มาสร้างเป็นข่าวโดยไม่ต้องลงทุน
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การกำกับดูแลและตรวจสอบข่าวลวงนั้นทำได้หลายวิธีแต่สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นมีอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ ต้องมีองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้ โปร่งใส เป็นฝ่ายที่ 3 (Third party) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวสาร โดยประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวาง/ ต้องทำงานบนฐานของการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ เป็นเครือข่ายสื่อสารมวลชนและองค์กรในสังคม ทั้งตรวจสอบนโยบายทางการเมืองและผลประโยชน์รัฐ รวมทั้งการตรวจสอบสื่อกันเองด้วย เพื่อสร้างการตระหนักแก่คนในสังคม (public awareness)
“หัวใจสำคัญคือองค์กรแบบนี้ต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ใต้กำกับของใคร มีความโปร่งใสทุกด้าน ทั้งการหาทุนและด้านอื่น ๆ โดยอาจทำงานร่วมมือกับฝ่ายวิชาการ พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากสังคม”
ผู้อำนวยการฯไทยพีบีเอส ยกตัวอย่างว่าตอนนี้องค์กรกำลังจัดทำ data system และ data journalism ทำระบบข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวสารต่าง ๆโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดักกรองข้อมูล ด้านอาจารย์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า บทบาทของรัฐต้องมีหน้าที่ในการช่วยเหลือ ดูแลคนที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสี่ยงอาจถูกละเมิดจากปัญหา fake news แต่ด้านหนึ่งรัฐต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพด้วย
“สองด้านนี้ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่ากัน หน้าที่ของรัฐคือ ทำให้ความรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนเท่าทันสื่อ รัฐจำกัดเสรีภาพได้หากจำเป็น แต่ต้องมีสัดส่วน แต่ห้ามเซ็นเซอร์ การกำกับแบบนี้คือ กำกับช่องทางไปถึงคน เช่น วิดีโอโป๊ ไม่ใช่ไม่ให้มี แต่ต้องไม่ให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายต่างหากหลักการคือ ไม่กำกับเนื้อหา นี่ต่างหากที่ต้องทำ
รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลังเกี่ยวกับข่าวลวง ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องเครื่องมือและใช้เทคโนโลยีให้คนเข้าถึงช่องทางการตรวจสอบได้ง่าย สำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงจะทำให้เกิดการตรวจสอบข่าวลวงได้”
อ.ฐิติรัตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น แต่ต้องระวังการใช้อคติส่วนตัวไปตัดสินในประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน จนกลายเป็นการด่วนตัดสินอีกฝ่าย ทั้งนี้ต้องตรวจสอบ “ข้อเท็จจริง” ไม่ใช่ “ความเห็น”
ดร.จิราภรณ์ วิทยศักดิ์พันธ์ อดีตคณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริม “ความเป็นพลเมือง” จึงเป็นอีกบทบาทที่รัฐไทยต้องส่งเสริมเรื่องนี้ด้วย
“รัฐไทย ไม่ให้ความสำคัญกับความเป็น “พลเมือง” ทำให้ประชาชนอ่อนแอและต้องเชื่อรัฐตลอดเวลา คนจึงขาดวิธีคิดวิพากษ์ และเลือกเชื่อเรื่องที่ใกล้กับความคิดตัวเอง เมื่อเห็น ถูกใจก็กดไลค์แล้วแชร์ส่งต่อทันทีโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง กลไกจะเกิด Third party เลยทำได้ยาก เพราะขาดองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง รัฐต้องสร้าง ต้องส่งเสริมให้มีบรรยากาศที่จะเกิดการ “ฟูมฟัก” พลเมืองเหล่านี้ ได้ร่วมคิดและพัฒนา ดูแลประเทศ รักษาสิทธิของตัวเอง “พลเมือง”และ “ความเป็นพลเมือง” สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกลไกส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งได้ ยากมากที่จะต่อกรกับ fake ภาควิชาการก็ต้องร่วมสร้าง “พลเมือง” ที่มีคุณภาพนี้ออกมาด้วย”
ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ข่าวลวงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลังเนื่องจากการขยายตัวและเติบโตของอินเตอร์เน็ตและสื่อใหม่ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดที่องค์กรกำกับดูแลไม่อาจทำงานได้ทั่วถึง จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้คนรับสารได้มีความรู้เท่าทันเพื่อป้องกันตัวเอง ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย
ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีข้อเสนอสอดคล้องกันว่า รัฐบาลควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตื่นรู้ เท่าทันและทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสนับสนุนให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตรวจสอบข่าวลวงแทนการควบคุมด้วยกติกาที่เคร่งครัดจนอาจละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น อีกทั้งยังมีข้อสังเกตให้มีมาตรการเพื่อดูแลผู้ตกเป็น “เหยื่อ”ของ ข่าวลวงโดยไม่เจตนา ซึ่งการจัดการข่าวลวงนี้จะสำเร็จได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายในสังคมทำงานร่วมกัน สร้างสังคมให้ตื่นรู้กับข่าวในระยะยาวฃส่งเสริมให้เกิดการ “เท่าทัน” ข่าวสารในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของ platform สื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ข่าวลวงเผยแพร่ด้วย
การสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมของ 8 องค์กรเจ้าภาพที่ได้ประกาศต่อสาธารณะไปแล้ว