นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาส 4/2564 ด้วยการสำรวจความเห็นในรูปแบบออนไลน์ ไปยัง คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทย-จีน จำนวนประมาณมากกว่า 200 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านั้น เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมายาวนาน มากกว่า 20-40 ปี เป็นเจ้าของกิจการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของจีน รวมถึงนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล สำหรับแบบสอบถามประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ประเด็นเฉพาะกิจ หรือเหตุการณ์ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ ไทย-จีน 3) ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย และ 4) ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน ระหว่างวันที่ 16 – 26 กันยายน 2564 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 สรุปได้ว่า
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความกังวลก่อนที่จะผ่านปี 2564 คือ ความกังวลต่อการกลายพันธุ์ของโรค โควิด-19 ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า ปัจจัยในลำดับต่อมาคือ หนี้สะสมของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และเสถียรภาพทางด้านการเมือง และอีกสองปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค โควิด-19 คือ ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน และการที่ต่างชาติเฝ้าระวังไทยหากมีการระบาดของโรคเพิ่มสูงขึ้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการสร้างความกังวลทุกครั้งที่มีการสำรวจ ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 รวม 4 ครั้ง ในรอบ 12 เดือน มิใช่เฉพาะแต่การสำรวจครั้งนี้เท่านั้น
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวย้ำว่า จากการตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มร้อยละ 70 ในกลุ่ม 608 และเข็มแรกได้ร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด ตามข่าว ณ ช่วงเวลาสำรวจ ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 19 เห็นว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจมาก และร้อยละ 54.7 เห็นว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจภายในสิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตามมีร้อยละ 23.6 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างน่าจะไม่ดีขึ้นซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากโรคระบาด และยังได้มีการสอบถามเพิ่มเติมว่าการแสดงเอกสารที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มมีความจำเป็นมากหรือน้อยเพียงใดที่สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เป็นแหล่งพบปะของคนจำนวนมาก ร้อยละ 49.1 และร้อยละ 33.5 กล่าวว่าจำเป็นและจำเป็นมากตามลำดับ ขณะที่ร้อยละ 17.5 ให้ความคิดเห็นว่าไม่จำเป็น ซึ่งสรุปได้ว่าผู้ถูกสำรวจเล็งเห็นว่าการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนที่วางไว้และการมีเอกสารแสดงว่าได้รับวัคซีนแล้ว มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจที่มีคนพบปะกันจำนวนมาก อาทิ ร้านอาหาร และศูนย์การค้า อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราคงจะต้องใช้ชีวิตร่วมอยู่กับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปอีกระยะเวลาหนึ่ง หากพิจารณาจากสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน ได้สอบถามผู้สำรวจถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสบายใจในการทำธุรกิจและการขยายการลงทุน พบว่า ร้อยละ 52.4 เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อควรจะมีน้อยกว่า 2,000 รายต่อวัน (ค่าเฉลี่ย 14 วันย้อนหลัง) และร้อยละ 15.1 เห็นว่าผู้ติดเชื้อควรจะมีอยู่ระหว่าง 2,000 ถึง 4,000 ราย
เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 44.8 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่4 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ร้อยละ 24.1 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วนร้อยละ 25 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันกล่าวคือ ร้อยละ 40.1 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 31.1 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 45.8 คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 25.5 การนำเข้าจะทรงตัว ส่วนผลของการสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า การคาดคะเนระหว่างการลงทุนจากจีนที่ เพิ่มขึ้น คงเดิม หรือลดลงไม่มีความแตกต่างกัน ระหว่างไตรมาสนี้และไตรมาสหน้า อุปสรรคการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนซึ่งได้ฟื้นตัวแล้ว พบว่าอุปสรรคหลักคือ ปัญหาจากค่าขนส่งทางเรือ ปัญหาของความเพียงพอของการให้บริการทางเรือ การขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในประเทศไทย ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าของจีน และมาตรฐานสินค้าที่จีนบังคับใช้ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าการชำระและการโอนเงินค่าสินค้านั้นเป็นอุปสรรคน้อยที่สุด
ด้วยจีนกำลังรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจเติบโตที่รอบด้านและเสมอภาค (Common Prosperity) ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจาก โควิด-19 จากการคาดการณ์พบว่าร้อยละ 30.2 จีนจะนำเข้าสินค้ามากขึ้นและลงทุนในไทยมากขึ้น ร้อยละ 22.6 ให้ความคิดเห็นในทิศทางตรงกันข้าม ร้อยละ 12.3 คาดว่าไม่มีผลกระทบ จากผลการสำรวจที่ยังมาฟันธงได้ในกรณีนี้คงต้องติดตามผลของนโยบายอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายจีน ในการนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมประเด็นเชิงนโยบายของจีนที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ วิกฤตพลังงานของจีน จะส่งผลต่อการชะลอกำลังการผลิตและชะลอการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์การผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทั้งของจีนเอง รวมถึงในภูมิภาคและโลกโดยรวม การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 41.5 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 26.9 จะทรงๆ แต่ร้อยละ 28.8 ไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลง ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ พืชผลการเกษตร เกษตรแปรรูปและบริการสุขภาพ ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และพืชผลการเกษตรบางรายการ
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ให้มีความยั่งยืนได้นั้น คงต้องเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ จะอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ เช่น นักท่องเที่ยวจีน 9-10 ล้านคนต่อปี เหมือนกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจำนวนแรงงานภาคการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานส่วนเกินจำเป็นต้องออกจากภาคการท่องเที่ยว จะต้องได้รับการเพิ่มทักษะหรือปรับเปลี่ยนความถนัด (upskills และ reskills) เพื่อโยกย้ายไปสู่ภาคธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ และแรงงานอีกส่วนหนึ่งจะโยกย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมและจะทำอย่างไรให้แรงงานส่วนนี้กลายเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
ท้ายสุดนี้ ในการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตหรือ GDP ของประเทศไทยทั้งปี 2564 ร้อยละ 54.5 คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจติดลบ ส่วนร้อยละ 28.7 คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงไม่เกิน 1% การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันร้อยละ 44.3 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนร้อยละ 26.9 คาดว่าคงเดิม และร้อยละ 26.4 คาดว่าจะปรับตัวลดลง สำหรับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ร้อยละ 36.84 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าอ่อนลงที่ 32.90-33.65 และ ร้อยละ 7.18 คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาก ในอัตราที่มากกว่า 33 เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาในไตรมาสหน้า