“หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” อีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย มุ่งมั่นผสานความร่วมมืออย่างเต็มกำลัง ภายใต้ “โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์” เพื่อผลักดันให้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็น Amazing Experience ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และนำสู่ความยั่งยืน
การจัดกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2566 ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมนำร่องคุณภาพสูงครั้งที่ 3 ในพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย เดินหน้าต่อจากเส้นทาง “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” และเส้นทาง “วิถีชาวน้ำแห่งอยุธยา” โดยรูปแบบของเส้นทางท่องเที่ยวดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถนำเสนอเนื้อหาการท่องเที่ยวได้อย่างสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงและเข้มแข็งสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต
โดยกิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง เส้นทางลพบุรี ผู้ร่วมเดินทางจะได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่ “พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” แหล่งความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สัมผัสวิถีชุมชนไทยเบิ้ง ณ ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ชมความสวยงามของโบราณสถาน ณ “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตก และ “พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)” จุดเริ่มต้นการศึกษาด้านดาราศาสตร์ไทยเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อด้วย “บ้านหลวงรับราชทูต” (บ้านวิชาเยนทร์) อีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แวะสักการะพระศรีอาริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ “วัดไลย์” วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำบางขามเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ชมโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญอย่าง พระอุโบสถ พระวิหารเก้าห้อง มณฑปยอดปรางค์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุ ปิดท้ายชมสาธิตการทำขนมเต่าและขนมต้มญวณ ขนมโบราณภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ทั้งนี้ ททท. คาดหวังว่าเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง
ของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่มีความสนใจการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ
ด้านประวัติศาสตร์ของไทยอันล้ำค่าอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ยังเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ให้มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวได้ต่อไปในอนาคต