บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมกับ สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัวโครงการ การประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้Food Waste” ปีที่ 2 เชิญชวนนักเรียน – นักศึกษาทั่วประเทศ แชร์ไอเดีย สร้างพลังผ่านคลิปวีดีโอความยาว 3 นาที ณ บริเวณโถง ชั้น 7 ทรูดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด พร้อมด้วย ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้
ในปี 2561 บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมกับ สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมดำเนินโครงการ การประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องลดความสูญเปล่าทางอาหารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม โดยการแชร์ ไอเดีย สร้างพลังผ่านคลิปวีดีโอความยาว 3 นาที ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ เป็นอย่างมาก ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการกว่า 259 ผลงาน อีกทั้งยังได้มีการดำเนินกิจกรรมสร้างความตระหนักในเรื่องลดความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food Waste ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 20 แห่ง
ในปีนี้ ซีพีแรม ร่วมกับ มีเดียอาตส์ มจธ. เชิญชวนนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดคลิปวิดีโอ “ คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste ”โดยโครงการดังกล่าว ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากการตั้งคำถามจากสิ่งที่เราเห็นจากอาหารในจานที่เราทานไม่หมด กองขยะตรงหน้าที่มีแต่เศษอาหารเหลือจากการทาน หรือแม้แต่ผักและผลไม้ที่เน่าเสียอยู่ในตู้เย็น ประกอบกับการพูดถึงของคนทั้งโลก รวมถึงองค์กรยูนิเซฟถึงความยากจน การโหยหาอาหาร ความหิวโหยของเด็กน้อยในแอฟริกา หรือประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม ที่ทำให้ขาดแคลนอาหาร รวมทั้งการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ แม้แต่ในประเทศไทยเองที่ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินทอง เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ อยู่ที่ไหนไม่อดตาย แต่ก็ยังมีในหลายพื้นที่ห่างไกล ที่ยังขาดแคลนอาหาร อาหารไม่เพียงพอ เข้าถึงอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ มีให้เห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องความสูญเปล่าทางอาหารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญ ในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง และลดความสูญเปล่าทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food Waste ส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้างทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลก ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตระหนักถึงผลเสียที่ก่อเกิดจากอาหารที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า รวมถึงยังมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผลเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวในมิติเศรษฐกิจนั้น ความสูญเปล่าทางอาหาร แสดงให้เห็นถึงความสูญเปล่าในเชิงเศรษฐกิจ เหตุเพราะแทนที่อาหารที่ถูกผลิตจะส่งผลทำให้มนุษย์มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลับสูญเปล่าไร้ประโยชน์ หากทุกคนสามารถลดปริมาณความสูญเปล่าทางอาหาร และบริโภคอาหารอย่างสมดุล นอกจากจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนอย่างยิ่งยวดแล้ว ยังช่วยทำให้ระดับความมั่นคงทางอาหารของคนบนโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนมิติสิ่งแวดล้อมนั้นการกำจัดความสูญเปล่าทางอาหารที่ถูกทิ้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน เพราะความสูญเปล่าทางอาหารที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่จะถูกทำลายด้วยการฝังกลบซึ่งส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทน (methane) ก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดทำโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในการสร้างความตระหนักในเรื่องความสูญเปล่าทางอาหารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และลดความสูญเปล่าทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม จึงได้จับมือกับสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอย่างต่อเนื่อง ในการร่วมขับเคลื่อนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร เพื่อสร้างความมั่งคง และความยั่งยืนทางอาหารอย่างต่อเนื่อง
ด้านผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักในเรื่องลดความสูญเปล่าทางอาหารอย่างจริงจัง เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต การสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราอาจจะไม่สามารถหยุดเหตุกาณ์อันเลวร้ายนี้ได้ แต่เราเป็นจุดเล็กๆ ที่ผสานรวมกันจนเกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เหตุกาณ์ดังกล่าวชะลอการเกิดขึ้นได้ และหวังว่าถ้าคนที่ได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ดังกล่าวจะส่งผลให้มีความตระหนักและเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร จนสามารถสร้างความอิมแพคในสังคมและโลกใบนี้ เหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวอาจจะหยุดการเกิดขึ้นได้
จากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปี หรือประมาณ 1.3 พันล้านตัน จะกลายเป็นความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food Waste และถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งขว้างเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า
1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 31 ล้านล้านบาท และเพียงพอนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่หิวโหยได้มากถึง 870 ล้านคน และจากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารของประชากรโลก ผู้คนที่อดอยากหิวโหยจำนวน 870 ล้านคนนั้น จำนวนเกินกว่าครึ่งหรือราว 552 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิเอเชียแปซิฟิค ซึ่งนับรวมประเทศไทยด้วยเช่นกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติความสูญเปล่าทางอาหารเกิดจาก ระบบการจำหน่ายมีกระบวนการควบคุมที่ไม่เหมาะสม การซื้อสินค้า และการเตรียมอาหารที่มากเกินจำเป็น ไปจนถึงความสูญเปล่าทางอาหารจากการบริโภค ทั้งในส่วนที่เหลือทาน และเลือกบริโภค รวมถึงสหประชาชาติ ยังตั้งเป้าลดความสูญเปล่าทางอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
ทั้งนี้ โครงการ การประกวดคลิปวิดีโอ “ คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” แชร์ไอเดีย สร้างพลังผ่านคลิปวีดีโอความยาว 3 นาที เปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 สิงหาคม-31 ตุลาคม 2562 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 360,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานและติดตามรายละเอียดการสมัครได้ที่https://www.facebook.com/foodwasteclipcontest