จังหวัดน่าน และ กฟผ. ร่วมพัฒนาน่านนคร ต้นน้ำต้นไฟของไทยทั้งชาติ รองรับการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำน่านให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “น่านนคร เมืองต้นน้ำ…ต้นไฟของไทยทั้งชาติ” และให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมสถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟผ. ร่วมให้การต้อนรับ เครือข่ายส่วนราชการ ผู้นำชุมชน คณะครู นักเรียน และผู้เข้าร่วมกิจกรรม สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมหาแนวทางเพื่อพัฒนาให้จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงทางด้านระบบไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ระหว่างจังหวัดน่าน และ กฟผ. ในอนาคต ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือ โดยช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมา จังหวัดน่านได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจและเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการให้ความสำคัญด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการควบคุมปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จนทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ขอขอบคุณ กฟผ. ที่มุ่งมั่นดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของจังหวัดน่านมาโดยตลอด ทำให้สามารถรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้า การลุงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังได้ดำเนินโครงการปลูกป่า เพื่อร่วมพลิกฟื้นและอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำน่านมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดน่านที่ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำเรื่องการดูแลและอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้เป็นพิเศษอีกด้วย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา จังหวัดน่าน และ กฟผ. ร่วมมือกัน ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงทางพลังงานและด้านการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำน่านอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดน่านเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางพลังงานที่สำคัญของภาคเหนือ เป็นต้นทางไฟฟ้าที่ครอบคลุมการส่งจ่ายไฟระหว่างภาคเหนือ และเป็นจุดเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และไทย ซึ่งจะรองรับการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดย กฟผ. ได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งและขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว โดยนำระบบ Gas Insulated Substation หรือ GIS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสถานีไฟฟ้ารูปแบบใหม่เข้ามาใช้งาน ทำให้สถานีไฟฟ้าแรงสูงน่านมีระบบควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าที่ปลอดภัยและทันสมัยมากขึ้น โดยสามารถรับไฟฟ้าได้ 2 ระบบ คือ ระบบ 115 กิโลโวลต์ (kV) และระบบ 500 kV ส่งผลให้เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดน่าน อีกทั้งยังช่วยลดข้อจำกัดเรื่องการดับไฟฟ้าระหว่างการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าอีกด้วย
“จังหวัดน่าน” ยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน ต้นน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และมีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุดถึงร้อยละ 47 ซึ่ง กฟผ. ได้ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 – 2563 เพื่อร่วมรักษาผืนป่าต้นน้ำน่านผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการปลูกป่า โครงการชีววิถี โครงการกล้าดี ด้วยแนวทางปลูกที่ท้องปลูกที่ใจ ปลูกในป่า ฯลฯ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกป่า รวมทั้งหมด 105,800 ไร่
พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังได้จัดพิธีมอบทุนสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ปลูกจิตสำนึก “ร่วมสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ”ภายใต้โครงการกล้าดี ปีที่ 5 ประจำปี 2563 ให้แก่สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดน่านที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการโครงการฯ จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสา โรงเรียนตาลชุมพิทยาคม โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดภูเก็ต โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม โรงเรียนบ้านหลวง และโรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์ เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการของแต่ละโรงเรียนให้สามารถต่อยอดและขยายผลสู่ชุมชน เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในจังหวัดน่านอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป