สนข. มอบรางวัลการแข่งขันประกวดแบบสิ่งอำนวยความสะดวกระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทุกคน ให้แก่ทีมชนะเลิศ 3 ทีมได้แก่ ทีมคนบ้านเฮา ทีม Shea Butter ทีม SN(A)CK และ รางวัลป๊อปปูล่าโหวตขวัญใจมหาชน ได้แก่ ทีมคนบ้านเฮา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงราย แห่งที่ 2
รร.อมารี วอเตอร์เกท : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยกระทรวงคมนาคม ได้จัดกิจกรรมแข่งขันประกวดแบบสิ่งอำนวยความสะดวกระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทุกคน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท “โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน” และได้ดำเนินการตามแผนงานจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า “สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นการ บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 12 เดือน ระหว่างมีนาคม 2561 ถึงมีนาคม 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาสู่ “ระบบขนส่งที่เสมอภาคและเท่าเทียม” (Inclusive Transport) และระบบขนส่งสำหรับทุกคน (Transport for All) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคการขนส่งให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ประเมินผลการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน และการพัฒนาทักษะการให้บริการแก่คนพิการ และผู้สูงอายุ
“ตามยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้กำหนดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การบริหารจัดการ และการบริการ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม หรือ Inclusive Transport ซึ่งที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ โดยยึดหลัก Universal Design ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง
สนข.ได้จัดทำมาตรฐานด้านอาคารสถานที่ให้บริการขนส่งที่ปรับปรุงออกแบบตามหลัก Universal Design และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงยกระดับสภาพกายภาพอาคารสถานที่ในความรับผิดชอบของตน และมาตรฐานยานพาหนะประเภทต่างๆ เช่น รถโดยสาร เรือโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า รถยนต์สาธารณะ และอากาศยาน ที่สามารถรองรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น สนามบินยึดตามมาตรฐาน ICAO, สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ท่าเรือ เสร็จเมื่อปี 60 และเตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบเพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นต้นแบบ โดยยานพาหนะเดิมจะต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน โดยกำหนดให้มีหลักสูตรในการอบรมทักษะบริการ และหลักสูตรการตรวจ ออกแบบ
สำหรับแผนแม่บทสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคนนั้น นอกจากกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานยานพาหนะ อาคารสถานีแล้ว จะกำหนดถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น หน่วยงานรัฐ, องค์กรท้องถิ่น, ผู้ประกอบการ กำหนดงบประมาณและกรอบเวลาในการดำเนินการ ระยะสั้น, กลาง, ยาว เป็นต้น ได้คัดเลือกต้นแบบ 4 แห่ง ที่ยังไม่ได้มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน ได้แก่ สถานีขนส่งเชียงราย, สนามบินภูเก็ต, สถานีรถไฟทางคู่ขอนแก่น, ท่าเรือเกาะสีชัง เพื่อวางเกณฑ์ ออกแบบและคัดเลือก เพื่อปรับปรุงเป็นต้นแบบในปี 62 ต่อไป