การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการสินค้า และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain (ซัพพลายเชน) หรือห่วงโซ่อุปทาน ที่เป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบและสิ้นสุดเมื่อส่งสินค้าถึงมือลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรการจำกัดการเดินทางและการคมนาคมในการขนส่งสินค้า อีกทั้งการหยุดการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน ส่งผลให้ซัพพลายเชนทั่วโลก รวมทั้งสินค้าที่จำเป็นเกิดภาวะชะงักงันและขาดแคลนอย่างรุนแรง เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นการที่ท่าเรือ และสนามบินขนาดใหญ่ระดับโลกทั้งในประเทศจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ปิดบริการ อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการลำเลียงสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังตลาดหลักของโลก ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย
รายงาน Regional Trends Analysis ปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานผลวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตีพิมพ์ว่าความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่ลดลง การปิดชายแดน และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการขนส่ง ส่งผลให้การส่งออกใน 21 ประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation: APEC) ลดลงร้อยละ 6.3 และการนำเข้าในประเทศเหล่านั้นลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของ Institute for Supply Management ระบุว่า ประมาณร้อยละ 75 ของธุรกิจในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤตสงครามในประเทศยูเครน ซัพพลายเชนก็ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น แม้ว่าวิกฤตด้านซัพพลายเชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การเข้าใจขอบเขตของวิกฤตการณ์ การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง จะทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถเรียกความมั่นใจในการสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับคืนมาได้ และช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีอีกด้วย
แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจของ 3เอ็ม
ในฐานะบริษัทชั้นนำของโลกด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี 3เอ็ม เองเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนที่กล่าวมาเช่นกัน ปัญหาความแออัดและความล่าช้าในการขนส่งทางเรือผ่านท่าเรือส่งออกหลัก เช่น ลอสแองเจลิส หรือลองบีช และปัญหาความตึงเครียดด้านแรงงานที่เกิดขึ้นทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อ 3เอ็ม ดังนั้น เราจึงนำกลยุทธ์ 3 ประการข้างล่างนี้มาใช้ในการดำเนินการตามแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้ การเปิดศูนย์จัดส่งสินค้าชายฝั่งตะวันออกแบบรวมเที่ยว (East Coast Consolidation Center: ECCC) ที่เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นศูนย์จัดส่งสินค้าแบบรวมเที่ยวแห่งที่ 3 ของ 3เอ็ม โดยศูนย์ ECCC นี้เป็นศูนย์กลางในการส่งสินค้าไปยังทวีปเอเชีย สินค้าหลากหลายของ 3เอ็ม จะถูกขนส่งมารวมไว้ที่นี่ ซึ่งทำให้เรามีสินค้าเต็มตู้คอนเทนเนอร์เร็วขึ้นและสามารถส่งสินค้ามายังทวีปเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เราบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และมีต้นทุนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ ศูนย์ ECCC นี้ช่วยลดระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าไปยังประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบเดิมก่อนที่เราจะเปิดศูนย์ ECCC แห่งนี้ นอกจากนี้ 3เอ็ม ยังมีแผนที่จะเพิ่มการจัดส่งสินค้าส่งออกจากศูนย์ ECCC ไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาใต้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในภูมิภาคนั้น ๆ มากขึ้น
การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานเฉียบพลัน (Supply Shock) ด้วยการไม่พึ่งพาแหล่งจัดซื้อเพียงแหล่งเดียว แต่มีแหล่งจัดซื้อที่หลากหลาย เพื่อให้การจัดหาสินค้าที่สำคัญมีความมั่นคงยิ่งขึ้นและ สามารถปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น 3เอ็ม ยังทำงานใกล้ชิดร่วมกับคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเล (Ocean Carrier) ในการหาท่าเรือทางเลือก เพื่อให้เราสามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ การดำเนินการนี้เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ของเราในการลดผลกระทบจากภาวะการหยุดชะงักของซัพพลายเชน ทั้งนี้การเปิดใช้ศูนย์ ECCC ทำให้ 3เอ็ม สามารถเข้าถึงท่าเรือชายฝั่งตะวันออกได้รวดเร็วกว่าการใช้ท่าเรือชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
การสร้างเครือข่ายที่ยืดหยุ่นและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว การเปิดท่าเรือแห่งใหม่นั้นทำให้ 3เอ็มประสบความสำเร็จในการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรับมือกับปัญหาความท้าทายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ข้อพิพาทด้านแรงงาน ความแออัดของท่าเรือ และการขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับการบริหารซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเรายังได้ทำการส่งสินค้าข้ามแดนด้วยรถบรรทุก (Cross Border Trucking) ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อลดผลกระทบจากการปิดประเทศและการจำกัดการคมนาคมทางช่องทางต่างๆ
นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง
เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าภาวะการหยุดชะงัก (Disruption) ครั้งถัดไปจะเกิดอะไรขึ้นและเกิดขึ้นเมื่อใด แต่อย่างไรก็ดี บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ 3เอ็ม ไม่เคยหยุดยั้งในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเพื่อให้ซัพพลายเชนของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการจัดการระบบฐานข้อมูลแบบบูรณาการ สร้างศูนย์รวมของฐานข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อถือได้ซึ่งจะช่วยให้ 3เอ็ม สามารถทราบถึงข้อมูลการจัดส่งสินค้าที่ยังคงค้าง และทาง 3เอ็ม ได้นำเครื่องมือที่ช่วยยกระดับการทำงานด้านโลจิสติกส์ เช่น Traxx มาช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการให้สามารถเข้าถึงสถานะระหว่างการจัดส่งสินค้าสำหรับศูนย์รวบรวมสินค้าทั้งสองแห่งได้
เฝ้าสังเกตและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง
3เอ็ม เฝ้าสังเกต ปรับตัว และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนของเราตลอดเวลา ดังนั้น การบริหารงานด้วยความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว (Resilience) และมีความคล่องตัว (Agility) ถือเป็นหัวใจที่จะช่วยให้เราดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะการหยุดชะงักของซัพพลายเชนรวมถึงสถานการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจตามเป้าหมายได้