กรุงเทพมหานคร – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก ร่วมกับ The Nature Conservancy หรือ TNC องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก เปิดเผยความคืบหน้าความร่วมมือด้านความโปร่งใสของซัพพลายเชนในการจัดหาปลาทูน่าทั่วโลกฉบับแรก
เจนนิเฟอร์ มอร์ริส ประธานกรรมการองค์กร The Nature Conservancy กล่าวว่า “ท้องทะเลทั่วโลกกำลังวิกฤต ทั้งจากภาวะโลกร้อน การประมงที่เกินขีดจำกัด และมลพิษต่าง ๆ ทำให้ชุมชนชายฝั่งและแหล่งอาหารของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งการสร้างความโปร่งใสในซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้นในการประมงทั่วโลกและตรวจสอบด้วยระบบดิจิทัล นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาและจัดการด้านประมงให้ไว้วางใจได้ ปีแรกของการทำงานร่วมกับไทยยูเนี่ยนถือว่ามีความก้าวหน้าและช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับซัพพลายเชนในการจัดหาปลาทูน่าทั่วโลกได้”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่าหากองค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญและร่วมมือกันจะสามารถหาวิธีทำให้ท้องทะเลของเรายั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป จากรายงานฉบับนี้ผมภูมิใจและเชื่อว่าไทยยูเนี่ยนและ The Nature Conservancy จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านความโปร่งใสในซัพพลายเชนและเพิ่มการตรวจสอบด้วยระบบดิจิทัล” สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยยูเนี่ยนและ TNC เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยสินค้าปลาทูน่าจากไทยยูเนี่ยนมีการจัดหาวัตถุดิบจากเรือประมงที่อนุญาตให้ตรวจสอบประเมินการทำงานขณะเดินเรือในทะเล สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนหรือ SeaChange® ของไทยยูเนี่ยนที่ให้ความสำคัญกับการปฎิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
ความคืบหน้าการทำงานร่วมกันปีแรกระหว่างไทยยูเนี่ยนและ TNC บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ดังนี้
- อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีการใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบเรือประมงของคู่ค้าในซัพพลายเชนเป็นครั้งแรก ตามมาตรฐานทางเทคนิค ข้อมูลและการออกแบบของไทยยูเนี่ยน รวมถึงมีการปรับปรุงเรือประมงของคู่ค้าในซัพพลายเชนต่อเนื่อง
- ไทยยูเนี่ยนยังขยายการใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบไปยังเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้กับธุรกิจของกลุ่ม สร้างมาตรฐานการตรวจสอบ ในปี 2564 เรือประมงคู่ค้าที่จัดหาวัตถุดิบปลาทูน่าให้กับไทยยูเนี่ยน 71 เปอร์เซ็นต์ได้รับการตรวจสอบและสังเกตุการณ์ผ่านระบบออนไลน์หรืออยู่บนเรือขณะปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบต่อเนื่องและมีการรายงานอีกครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบบนเรือประมงเบ็ดราว 240 ลำ ที่มาจากบริษัทจัดหาวัตถุดิบ 5 บริษัทในมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566
- เปิดตัวโครงการใหม่ ๆ เพื่อขยายการใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบการถ่ายลำ และดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนบนเรือประมง
- ไทยยูเนี่ยนและ TNC ร่วมกันทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำประมงที่ถูกต้องตามสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงหรือ Marine Stewardship Council (MSC) Fisheries และร่วมในภาคีต่าง ๆ อาทิ International Seafood Sustainability Foundation และ Global Tuna Alliance
- ไทยยูเนี่ยนและ TNC มีการรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบผ่านองค์กรต่าง ๆ อาทิ Inter-American Tropical Tuna Commission (IATTC) และ Indian Ocean Tuna Commission (IOTC).
- ไทยยูเนี่ยนยังร่วมมือและมีกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในระยะเวลาหลายปีเพื่อให้เกิดการใช้ AI หรือเครื่องจักรในการเรียนรู้กระบวนการการตรวจสอบผ่านระบบดิจิทัล
สำหรับปี 2566 จะมีการมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มการตรวจสอบให้ครอบคลุม รณรงค์ให้เกิดการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ใช้การตรวจสอบสังเกตการณ์การด้วยระบบดิจิทัลในแง่มุมทางสังคมอื่น ๆ ของความยั่งยืน รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่จะสามารถนำไปใช้โดยกว้างขวางได้