เอสซีจีเผยแผนรุก Future Forward เร่งปรับตัว เสริมแกร่งธุรกิจคล่องตัว ลดคาร์บอน ตามแนวทาง Inclusive Green Growth สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว รับวัฏจักรปิโตรเคมีผันผวนยาว เตรียมเพิ่มออปชันวัตถุดิบปิโตรเคมีเวียดนาม LSP ด้วยก๊าซอีเทน ดันปูนคาร์บอนต่ำส่งนอก คว้าโอกาสจากนโยบายหนุนนวัตกรรมกรีน ดึงเทคโนโลยียกระดับการอยู่อาศัย สร้างชีวิตกรีน&สมาร์ท ขยายธุรกิจพลังงานสะอาดสู่อาเซียน สร้าง New S-curve พร้อมเดินหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เข้มข้น ดันเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน
สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 39 ของรายได้รวมเอสซีจีเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงเตรียมแผนเพิ่มศักยภาพโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ให้มีความยืดหยุ่นด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้เหมาะสมกับจังหวะตลาดและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติอีเทน (Ethane) เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมจากการใช้แนฟทา (Naphtha) และก๊าซธรรมชาติโพรเพน (Propane) เนื่องจากราคาเฉลี่ยอีเทนต่ำกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยราคาของแนฟทาและโพรเพนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับเพิ่มการใช้ก๊าซอีเทนยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการเกิดผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By-product)
การเสริมแกร่งครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจุดแข็งของ LSP ที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับวัตถุดิบประเภทก๊าซอยู่แล้ว โดยมีระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางที่มีความพร้อมในการติดตั้งถังเก็บวัตถุดิบและท่อนำส่งก๊าซอีเทน คาดการณ์ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี เพื่อเดินหน้าการผลิตโอเลฟินส์ และพอลิโอเลฟินส์ อย่างพอลิเอทิลีน และพอลิโพรพิลีน ตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกสำหรับผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในตลาดเวียดนาม ซึ่งมีความต้องการสูง ภายใต้การบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ LSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567
นอกจากนี้ ความพร้อมของ LSP ยังสามารถรองรับการผลิตนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM ในอนาคต ซึ่งเป็นนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ โดยธุรกิจได้ดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการของธุรกิจล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองกับทิศทางธุรกิจ และยังเป็นโอกาสสร้างการเติบโตจากนโยบายสนับสนุนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำเป็นหลักในหลายโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกาได้แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา จึงเร่งผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 3 ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิต ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 40-50 เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ประเภทเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการปูนคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต
ทิศทางของ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก เน้นการลดคาร์บอน พร้อมมีดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้มีแผนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มหุ่นยนต์ เพื่อลดของเสีย บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้กับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เข้ามา เช่น จีน และเตรียมขยายตลาดวัสดุก่อสร้างไปยังตลาดอินเดีย และตะวันออกกลางซึ่งเติบโตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้างานระบบ ตอบโจทย์การก่อสร้างเร็วและใช้งานดีขึ้น โดยเฉพาะระบบผนังที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ช่วยกันร้อนและกันเสียง รวมไปถึงระบบหลังคา ดีไซน์หลากหลาย ปรับได้ตามความต้องการและแบบบ้าน พร้อมฟังก์ชันกันร้อน และช่วยประหยัดพลังงาน
เดินหน้าสมาร์ทโซลูชัน New S-curve จากแบรนด์ ‘ออนเนกซ์ (ONNEX)’ ที่ผสานความเชี่ยวชาญของเอสซีจีและเทคโนโลยีล้ำสมัย ยกระดับการอยู่อาศัยทุกมิติ ทั้งประหยัดพลังงาน ด้วยระบบบำบัดอากาศเสีย ‘Air Scrubber’ และโซลูชันพลังงานสะอาด ‘Solar Hybrid Solutions’ ดูแลคุณภาพอากาศในบ้านและอาคาร ‘Bi-on’ ในอนาคตจะเพิ่มโซลูชันดูแลผู้สูงอายุ ตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ พร้อมเตรียมเชื่อมต่อกับทุกโซลูชันของออนเนกซ์ให้สามารถบริหารจัดการได้ในแพลตฟอร์มเดียว ผ่าน ระบบปฏิบัติการดิจิทัล ‘Trinity’ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น
เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และสามารถคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต ช่วยให้ธุรกิจแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นภายใต้ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น แอปพลิเคชัน ‘Prompt Plus’ สำหรับระบบค้าส่ง สามารถช่วยวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าตามความต้องการ (Personalized Recommendations) เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้ารายย่อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน ขยายการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยรักษ์โลกสู่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง อาทิ นำเสนอคอนกรีตผสมแบบพร้อมใช้ ‘CPAC Ready Mix’ และ ‘CPAC 3D Printing Solution’ เข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการก่อสร้าง ลดของเสียหน้างาน
ธุรกิจ New S-Curve เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เดินหน้าขยายสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 ด้วยจุดแข็งด้านนวัตกรรมและโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจรระดับโลก ทั้งระบบบริหารจัดการ การผลิต การจัดเก็บ (Energy Storage System) และจำหน่ายไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มพลังงานสะอาด ‘Smart Micro Grid’ ตลอดจน ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery)’ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างยูนิตแรกของโลกสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี นอกจากนี้ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการลงทุนในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ‘นวัตกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Tandem Perovskite’
โดยบริษัทนี้มีจำนวนสิทธิบัตรอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อช่วยผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 30 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงพลังงานสะอาดได้สะดวกยิ่งขึ้น แผนรุกครั้งนี้ เอสซีจีเดินหน้าบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน โดยจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ภายใต้งบประมาณการลงทุนปีละ 40,000 ล้านบาท และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ร้อยละ 10-15 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพ ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร โดยหมุนทรัพยากรและกำลังคนมาโฟกัสในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ครึ่งแรกของปี มีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท
นายธรรมศักดิ์ เสริมถึงทิศทางติดปีกธุรกิจต่อไปว่า เอสซีจีกำลังเร่งขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี นำ AI มาขับเคลื่อนธุรกิจทุกมิติ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างเข้าใจ ทำจริง และขยายผลต่อยอด เพื่อปูทางสู่ศักยภาพธุรกิจระยะยาว วันนี้มีหลายโครงการเริ่มเดินหน้าและอยู่ในแผนพัฒนา เช่น การดึง AI เป็นเพื่อนคู่คิดลูกค้าช้อปปิ้งเรื่องบ้านโดนใจ หรือ AI ดูแลเครื่องจักรและซ่อมบำรุงเพื่อการทำงานอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ด้าน ได้แก่ 1) เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจากศักยภาพพื้นที่และสายส่งด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) 2) มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตสินค้ารักษ์โลกและคาร์บอนต่ำ 3) สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ 4) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ลดคาร์บอน 5) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งหาทุนสีเขียว (Green Funding) จากต่างประเทศมาพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ อาทิ เทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน ตั้งเป้าปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
เอสซีจีติดตามสถานการณ์ไทยและโลกทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันยังนำมาวิเคราะห์ล่วงหน้า จัดทำแผนที่เหมาะสมกับแต่ละจังหวะ และนำมาใช้ปรับตัวอย่างทันท่วงทีให้ธุรกิจดำเนินต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่เข้มแข็งทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว ยังรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง ตอบทุกโอกาสและความท้าทายที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ สรุปปิดท้าย