กฟผ. ร่วมสนับสนุนโครงการการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ EV Hackathon ฉลองครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตไทย-เยอรมนี พร้อมถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าแก่เยาวชน มุ่งผลักดัน ประเทศไทยก้าวสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย
วานนี้ (2 มิถุนายน 2565) นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. แถลงข่าวเปิดโครงการ “การแข่งขันความคิดสร้างสรรค์ สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ EV Hackathon (Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability #EV4Sustain) ร่วมกับ นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ฯพณฯ นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมภาคีเครือข่าย โอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี ณ ห้องแถลงข่าวกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนขับเคลื่อนการใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้น พร้อมร่วมสรรค์สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เร่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม และสร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้คนไทยอย่างยั่งยืน
“การจัดการแข่งขัน EV Hackathon นี้ เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดย กฟผ. สนับสนุน ถ่ายทอด และแบ่งปันองค์ความรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้ง 8 แห่งที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของไทย พร้อมต้อนรับทุกคนให้เข้ามาศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเอง เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้ายานยนต์ ไฟฟ้า รวมถึงพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวย้ำ
โครงการนี้ มีหัวข้อการแข่งขันเรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) มุ่งให้นิสิตนักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปประยุกต์ใช้และต่อยอดในอนาคต อีกทั้งเป็นประโยชน์สำหรับไทยที่จะพัฒนาและเรียนรู้ความทันสมัยในเทคโนโลยีของเยอรมนี ให้พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็น “ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย” ตามนโยบาย 30/30 ของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle)
หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ การแข่งขันยังสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศ ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ของไทย และนโยบาย Energy Transition and Climate Change ของเยอรมนี
กิจกรรม EV Hackathon นี้ จัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2565 เปิดให้นักศึกษาอายุ 18 – 35 ปี เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ และส่งผลงานเข้าประกวดแบบทีมละ 3 คน โดยทีมที่ได้รับคัดเลือก 8 ทีม จะเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ EV Hackathon 24 ชั่วโมง ที่ มจพ. ในวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2565 เพื่อชิงรางวัลเงินสดรวม 250,000 บาท สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและวิธีการสมัครเข้าแข่งขัน EV Hackathon ได้ที่ https://ev4sustain.kmutnb.ac.th/